คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8071/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลทางหลวงแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร การเวนคืนที่ดินเพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินจึงเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ของจำเลย การกระทำของอธิบดีกรมทางหลวงในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้แทนและตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยจึงผูกพันจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลด้วย กรณีเช่นนี้ถือว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
ราคาที่ดินของโจทก์ขณะถูกเวนคืนมีราคาในท้องตลาดตารางวาละ 120,000 บาท โดยโจทก์เทียบเคียงกับราคาที่ดินที่ซื้อขายเพื่อสร้างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ติดถนนเพชรเกษม ห่างจากที่ดินของโจทก์ 300 ถึง 400 เมตร และที่ดินที่ขายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งอยู่ห่างที่ดินของโจทก์ประมาณ 1,200 เมตร แต่การซื้อขายที่ดินดังกล่าว เป็นการซื้อขายที่ฝ่ายผู้ซื้อต้องการได้ที่ดินไปเพื่อใช้เป็นที่ทำการและเป็นการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นการซื้อขายที่มีวัตถุประสงค์พิเศษแตกต่างจากการซื้อขายของบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ขายสามารถเรียกราคาได้สูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดได้ จึงไม่อาจนำมาเปรียบเทียบโดยตรงเพื่อกำหนดเป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ได้
ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตามโฉนดเลขที่ 25506 เนื้อที่ 19.30 ตารางวา นั้น เดิมที่ดินแปลงนี้อยู่ติดถนนเพชรเกษมอยู่แล้ว หลังถูกเวนคืนอาคารพาณิชย์ของโจทก์ 2 ห้องที่ปลูกบนที่ดินดังกล่าว ซึ่งโจทก์ทำการค้าโดยเปิดร้านอาหารนั้นยังใช้ประโยชน์ได้ ก่อนหน้าที่ดินของโจทก์แปลงนี้จะถูกเวนคืนลูกค้าของโจทก์ก็ต้องจอดรถที่หน้าร้านบนถนนเพชรเกษมอยู่แล้ว การที่ที่ดินของโจทก์แปลงนี้ถูกเวนคืนเนื้อที่ 1.70 ตารางวา และต้องมาอยู่ใกล้มุมสี่แยกซึ่งจำเลยมีข้อกำหนดไม่ยอมเปิดทางเพื่อเข้าออกสู่ทางหลวงก็ตาม แต่หลังจากมีการขยายทางหลวงตามแนวเขตที่ดินที่ถูกเวนคืน ลูกค้าของโจทก์สามารถจอดรถบริเวณหน้าร้านของโจทก์ได้เช่นเดิม ประโยชน์จากการใช้ที่ดินแปลงนี้มิได้ลดลงไปจากเดิม แต่จากสภาพทำเลใหม่ที่มีการปรับปรุงทางแยกให้กว้างขึ้นทำให้ทัศนียภาพบริเวณดังกล่าวดีขึ้นกว่าเดิมและอาคารพาณิชย์ของโจทก์กลับดูเด่นเป็นสง่าเพราะด้านซ้ายมือเป็นหน้าต่างหรือใส่กระจกเพื่อรับแสงสว่างและอากาศบริสุทธิ์ได้ซึ่งต่างจากสภาพอาคารเดิมก่อนถูกเวนคืนที่ผนังอาคารด้านซ้ายมือเป็นผนังคอนกรีตทึบอยู่ติดอาคารพาณิชย์ของผู้อื่นตลอดแนวที่ดินของโจทก์แปลงนี้ที่เหลือจากการเวนคืนมิได้มีราคาลดลง ส่วนเรื่องเงินค่าทดแทนสำหรับอาคารส่วนที่เหลือซึ่งโจทก์อ้างว่ามีราคาลดลงนั้น อาคารของโจทก์ส่วนที่เหลือยังใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม อาคารส่วนที่เหลือของโจทก์จึงไม่ได้มีราคาลดลง การที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนที่เหลือให้โจทก์นั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว
โจทก์ไม่จำต้องนำสืบถึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารออมสินว่ามีอัตราเท่าใดเพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายพิเศษให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้นแต่จะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราตามคำขอของโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มีภาระการพิสูจน์โดยจะต้องนำสืบในเรื่องอัตราดอกเบี้ยแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในยอดเงินค่าตอบแทนที่ได้รับเพิ่มขึ้นรวมกันนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 11 กำหนดให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ โจทก์ไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 25506 พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 10 จึงไม่มีวันต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 วันเริ่มต้นคำนวณดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนจำนวนนี้ย่อมเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดให้ไปรับเงินค่าทดแทน ตามหนังสือเอกสารหมาย ล.14 อันเป็นวันที่จำเลยต้องนำเงินค่าทดแทนจำนวนนี้ไปวางตามมาตรา 28 วรรคสอง ซึ่งเป็นวันที่ต้องมีการวางเงินค่าทดแทนมาตรา 26 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 2 แปลง ตั้งอยู่ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 8547 เนื้อที่ 73 ตารางวา ถูกเวนคืนหมดทั้งแปลงตามโฉนดที่ดินเลขที่ 25506 เนื้อที่ 21 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ถูกเวนคืนเนื้อที่ 1.70 ตารางวา อันเนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 สายกรุงเทพฯ-คลองพรวน ตอนวังมะนาว-อำเภอชะอำ พ.ศ.2536 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ไร่ละ 6,000,000 บาท เงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้าง 3.5 ชั้น เป็นเงิน 22,703 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนมีมติเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์จากไร่ละ 6,000,000 บาท เป็นไร่ละ 9,600,000 บาท และเพิ่มเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้อีก 9,416 บาท ซึ่งไม่ถูกต้องและเป็นธรรม ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลง มีราคาซื้อขายในท้องตลาดขณะเวนคืนตารางวาละ 120,000 บาท ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนรวมเนื้อที่ 74.7 ตารางวา โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดอีก 7,843,500 บาท และมีสิทธิรับเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างที่ถูกรื้อถอนออกไป ตารางเมตรละ 5,000 บาท รวมเนื้อที่ 9 ตารางเมตร เป็นเงิน 45,000 บาท เมื่อหักกับที่ได้รับมาแล้ว 22,703 บาท คงเหลือที่จำเลยต้องชำระเป็นเงิน 22,297 บาท และอาคารสิ่งปลูกสร้างที่เหลืออยู่ 215 ตารางเมตร ราคาลดลงเพราะประโยชน์การใช้อาคารดังกล่าวลดลง คิดเป็นเงินตารางเมตรละ 2,000 บาท เป็นเงิน 430,000 บาท จากการเวนคืนทำให้ที่ดินส่วนที่เหลืออยู่ตรงมุมสี่แยกมีประโยชน์การใช้ลดลง ทำให้ที่ดินดังกล่าวมีราคาลดลงร้อยละ 60 ของราคาท้องตลาด คิดค่าเสียหายส่วนนี้ตารางวาละ 72,000 บาท เนื้อที่ 19.30 ตารางวา เป็นเงิน 1,389,600 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มเกี่ยวกับที่ดินเป็นเงิน 9,233,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,424,975.10 บาท และมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 452,297 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2540 คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 67,844.55 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวน 11,178,216.65 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงิน 9,685,397 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า เงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนจำนวน 1,195,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยนั้นต้องไม่เกินในอัตราร้อยละสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน)
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนจำนวน 1,208,081 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8547 และ 25506 ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 73 ตารางวา และเนื้อที่ 21 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ. 1 และ จ. 2 ตามลำดับพร้อมอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง เนื้อที่ 224 ตารางเมตร ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 25506 เมื่อปี 2536 มีการประกาศใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 สายกรุงเทพฯ-คลองพรวน ตอนวังมะนาว-อำเภอชะอำ พ.ศ.2536 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2536 การดำเนินการของฝ่ายจำเลยตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 8547 ถูกเวนคืนทั้งแปลง ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 25506 ถูกเวนคืนบางส่วนเป็นเนื้อที่ 1.70 ตารางวา และอาคารพาณิชย์ของโจทก์ต้องถูกรื้อถอนไปเป็นเนื้อที่ 9 ตารางเมตร คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ตารางวาละ 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,120,500 บาท และเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 22,703 บาท เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 โจทก์ทำสัญญาซื้อขายและรับเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 8547 จำนวน 1,095,000 บาท ไปแล้ว แต่เงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในโฉนดเลขที่ 25506 จำนวน 48,203 บาท โจทก์ไม่ทำสัญญาและไม่ไปรับเงิน เจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงนำเงินดังกล่าวไปฝากธนาคารออมสินสาขาหัวหินในนามของโจทก์เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2540 โจทก์ไม่พอใจจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นตารางวาละ 120,000 บาท และขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งมีราคาลดลงตารางวาละ 105,000 บาท รวม 19.30 ตารางวา เป็นเงิน 2,026,500 บาท เงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือซึ่งมีราคาลดลงเป็นเงินจำนวน 384,000 บาท เงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รื้อถอนไปจำนวน 45,000 บาท คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ พิจารณาแล้วมีมติเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 24,000 บาท และเพิ่มเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รื้อถอนไปเป็นจำนวน 32,119 บาท แต่ไม่กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนและเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือซึ่งโจทก์อ้างว่ามีราคาลดลง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมวินิจฉัยเห็นชอบด้วย แต่โจทก์ซึ่งไม่พอใจและไม่ไปรับเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนขึ้นเป็นตารางวาละ 40,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยอีกตารางวาละ 16,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,195,200 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่ไม่กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนกับสิ่งปลูกสร้างที่เหลือจากการรื้อถอนซึ่งโจทก์อ้างว่ามีราคาลดลง และไม่เพิ่มเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รื้อถอนให้แก่โจทก์อีก โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ให้เพิ่มเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รื้อถอนให้โจทก์อีก 12,881 บาท เท่านั้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 สายกรุงเทพฯ-คลองพรวน ตอนวังมะนาว-อำเภอชะอำ พ.ศ.2536 มาตรา 4 ได้บัญญัติให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ อีกทั้งมาตรา 6 ก็ยังบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งชี้ให้เห็นเจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวว่าไม่ได้ประสงค์จะให้กรมทางหลวงหรือกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากออกจากกันเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนหรือเป็นผู้รักษาการแทนตามพระราชกฤษฎีกาแต่อย่างใด เจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนดังกล่าวข้างต้นประสงค์จะให้เฉพาะอธิบดีกรมทางหลวงเท่านั้นเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเท่านั้นเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา การใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของอธิบดีกรมทางหลวงหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นการกระทำที่มีผลผูกพันเฉพาะตัวอธิบดีกรมทางหลวงหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการกระทำของจำเลย จำเลยจึงมิได้กระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์อันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า อธิบดีกรมทางหลวงซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลทางหลวงแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร การเวนคืนที่ดินเพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินจึงเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ของจำเลย การกระทำของอธิบดีกรมทางหลวงในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้แทนและตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยจึงผูกพันจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลด้วย กรณีเช่นนี้ถือว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยข้อต่อไปว่า เงินค่าทดแทนที่ดินและเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยให้จ่ายเพิ่มขึ้นแก่โจทก์นั้นเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความว่า ราคาที่ดินของโจทก์มีราคาในท้องตลาดขณะถูกเวนคืนตารางวาละ 120,000 บาท โดยโจทก์เทียบเคียงกับราคาที่ดินที่ซื้อขายเพื่อสร้างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ติดถนนเพชรเกษม ห่างจากที่ดินของโจทก์ 300 ถึง 400 เมตร และที่ดินที่ขายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งอยู่ห่างที่ดินของโจทก์ประมาณ 1,200 เมตร ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.17 และ จ.20 กับ จ.21 โดยมีนายสมศักดิ์ กรีฑาธรณ์ เจ้าของที่ดินที่ขายที่ดินให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด และนายวิจักษ์ ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นพนักงานธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) พยานโจทก์มาเบิกความสนับสนุน แต่การซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นการซื้อขายที่ฝ่ายผู้ซื้อต้องการได้ที่ดินไปเพื่อใช้เป็นที่ทำการ โดยเฉพาะการซื้อขายที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ทำการของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นการซื้อขายที่มีวัตถุประสงค์พิเศษแตกต่างจากการซื้อขายของบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ขายสามารถเรียกราคาได้สูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดได้ จึงไม่อาจนำมาเปรียบเทียบโดยตรงเพื่อกำหนดเป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ได้ ส่วนที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเพิ่มให้อีกร้อยละ 50 ของราคาประเมินของกรมที่ดินที่ประกาศใช้เมื่อปี 2539 ซึ่งมีราคาไร่ละ 6,400,000 บาท หรือตารางวาละ 16,000 บาท โดยกำหนดเพิ่มให้เป็นไร่ละ 9,600,000 บาท หรือตารางวาละ 24,000 บาท ตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ซึ่งยอมรับว่าแม้ไม่ปรากฏหลักฐานการซื้อขายที่ดินในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ ใช้บังคับ แต่ราคาซื้อขายที่ดินในท้องตลาดขณะนั้นน่าจะสูงกว่าราคาประเมินของกรมที่ดินนั้นก็เป็นการกำหนดเพิ่มให้แก่ที่ดินที่ถูกเวนคืนโดยทั่วไปโดยมิได้ให้เหตุผลเป็นพิเศษโดยเฉพาะเป็นรายแปลงไปจึงไม่ชัดเจนว่าอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยเพิ่มให้แก่โจทก์จะเป็นราคาที่ดินที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ แต่อย่างไรก็ตาม แม้โจทก์และจำเลยไม่อาจนำสืบถึงราคาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนในวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ศาลก็มีอำนาจกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่เป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมได้โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 8547 เนื้อที่ 73 ตารางวา นั้น มีรูปที่ดินเป็นสามเหลี่ยมชายธงไม่มีสิ่งปลูกสร้าง แม้จะมีด้านหน้าที่ดินยาวติดถนนเพชรเกษมแต่ทำเลไม่สู้ดีนัก การใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ย่อมถูกจำกัดตามสภาพรูปที่ดิน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินแปลงนี้มากกว่าที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยเป็นตารางวาละ 40,000 บาท นั้น เห็นว่า สูงเกินไป แต่อัตราค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยตารางวาละ 24,000 บาท ก็ต่ำไปไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จึงเห็นสมควรเพิ่มให้เป็นตารางวาละ 38,000 บาท เพิ่มจากที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยอีกตารางวาละ 14,000 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 25506 นั้นมีรูปที่ดินเกือบเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าทั้งยังมีอาคารพาณิชย์ตั้งอยู่ การใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ ย่อมมีมากกว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 8547 พอสมควร ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินแปลงนี้ให้มากกว่าที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยอีกตารางวาละ 16,000 บาท เป็นตารางวาละ 40,000 บาท นั้น เหมาะสมเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว โจทก์จึงได้เงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 8547 เพิ่มขึ้นจากรัฐมนตรีฯ วินิจฉัยอีกจำนวน 1,022,000 บาท และได้เงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 25506 เพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยอีกจำนวน 27,200 บาท รวมแล้วเป็นเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์ได้รับเพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยอีกจำนวน 1,049,200 บาท
สำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตามโฉนดเลขที่ 25506 เนื้อที่ 19.30 ตารางวา นั้น เห็นว่า เดิมที่ดินแปลงนี้อยู่ติดถนนเพชรเกษมอยู่แล้ว แม้ตามแผนที่หมาย จ.3 กับภาพถ่ายหมาย จ.4 ภาพที่ 1 ที่ดินแปลงนี้จะอยู่ห่างจากสี่แยกถนนเพชรเกษมตัดกับถนนเลียบคลองชลประทานสาย 3 เล็กน้อยตามที่ศาลชั้นต้นทำเครื่องหมายดอกจันสีน้ำเงินไว้ 2 แห่ง ในแผนที่หมาย จ.3 ก็ตาม แต่ตัวโจทก์ก็เบิกความรับว่าหลังจากถูกเวนคืนแล้ว อาคารพาณิชย์ของโจทก์ 2 ห้อง ซึ่งโจทก์ทำการค้าโดยเปิดร้านอาหารนั้นยังใช้ประโยชน์ได้ ก่อนหน้าที่ดินของโจทก์แปลงนี้จะถูกเวนคืนลูกค้าของโจทก์ก็ต้องจอดรถที่หน้าร้านบนถนนเพชรเกษมอยู่แล้ว การที่ที่ดินของโจทก์แปลงนี้ถูกเวนคืนเนื้อที่ 1.70 ตารางวา และต้องมาอยู่ใกล้มุมสี่แยกซึ่งจำเลยมีข้อกำหนดไม่ยอมเปิดทางเพื่อเข้าออกสู่ทางหลวงตามเอกสารหมาย จ.24 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาตามแผนผังการกำหนดราคาค่าที่ดินในเอกสารหมาย ล.9 และแผนผัง R.O.W. แสดงเขตที่ดินที่ขออนุมัติและจ่ายเงินค่าทดแทนในเอกสารหมาย ล.10 ประกอบภาพถ่ายหมาย จ.26/1 แล้วเชื่อว่าเป็นภาพถ่ายอาคารพาณิชย์ของโจทก์ดังกล่าวหลังจากมีการขยายทางหลวงตามแนวเขตที่ดินที่ถูกเวนคืน ตลอดจนคำเบิกความของนายอัมพร จินดาวัฒน์ พยานจำเลยซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ เห็นได้ชัดเจนว่าการเวนคืนที่ดินของโจทก์แปลงนี้และที่ดินบุคคลอื่นอีกหลายคนที่อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ก็เพื่อปรับปรุงทางแยกให้มีความกว้างมากขึ้น พื้นที่ตรงมุมตึกซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์มิได้เป็นผิวพื้นจราจรแต่เป็นพื้นที่ว่างห่างจากทางที่เป็นผิวพื้นจราจรอยู่มากพอสมควร ลูกค้าของโจทก์สามารถจอดรถบริเวณหน้าร้านของโจทก์ได้เช่นเดิม ประโยชน์จากการใช้ที่ดินแปลงนี้มิได้ลดลงไปจากเดิม แต่จากสภาพทำเลใหม่ที่มีการปรับปรุงทางแยกให้กว้างขึ้น ทำให้ทัศนียภาพบริเวณดังกล่าวดีขึ้นกว่าเดิมและอาคารพาณิชย์ของโจทก์กลับดูเด่นเป็นสง่าเพราะด้านซ้ายมือของตัวอาคารจะอยู่ติดพื้นที่โล่งและโจทก์สามารถเจาะผนังอาคารด้านซ้ายมือเป็นหน้าต่างหรือใส่กระจกเพื่อรับแสงสว่างและอากาศบริสุทธิ์ได้ซึ่งต่างจากสภาพอาคารเดิมก่อนถูกเวนคืนที่ผนังอาคารด้านซ้ายมือจะเป็นผนังคอนกรีตทึบอยู่ติดอาคารพาณิชย์ของผู้อื่นตลอดแนว ด้วยเหตุผลดังกล่าวเห็นได้ว่าที่ดินของโจทก์แปลงนี้ที่เหลือจากการเวนคืน มิได้มีราคาลดลงตามที่โจทก์อ้างมาในฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ สำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนั้นชอบแล้ว
ส่วนสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่ 9 ตารางเมตร นั้น โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า โจทก์คิดค่าเสียหายตารางเมตรละ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 45,000 บาท โดยโจทก์มีนายสำราญมาเบิกความสนับสนุนว่า พยานเคยประเมินราคาค่าสิ่งปลูกสร้างสำหรับอาคารพาณิชย์ใกล้ที่ดินที่ถูกเวนคืนคดีนี้เบื้องต้นปี 2537 ตารางเมตรละ 4,500 บาท ถึง 6,000 บาท แม้โจทก์ไม่มีรายการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนมาแสดงเช่นที่จำเลยได้นำสืบให้เห็นตามเอกสารหมาย ล.18 ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับค่าวัสดุ ค่าแรงงาน ค่าเสียหาย ค่ารื้อถอน ค่าขนย้าย ค่าดำเนินการ กำไรและภาษีก็ตาม แต่หลักการคำนวณค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยตามที่ปรากฏในบัญชีเปรียบเทียบฯ ในเอกสารหมาย ล.18 นั้น มีหมายเหตุระบุในตอนท้ายทำให้เห็นว่าตัวเลขที่แสดงไว้นั้นอาจแปรเปลี่ยนไปได้โดยขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่ามีการใช้ช่างฝีมือในการก่อสร้างหรือไม่ เมื่อคำนึงถึงว่าการปรับปรุงอาคารพาณิชย์โดยการรื้อแล้วปรับปรุงใหม่ในส่วนมุมของอาคารที่ถูกเวนคืนเป็นรูปสามเหลี่ยมทั้งสามชั้นเช่นนี้ วิญญูชนทั่วไปย่อมจะต้องจ้างช่างฝีมือมาดำเนินการให้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้อยู่อาศัยในตัวอาคาร ดังนั้น จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า โจทก์คงใช้ช่างฝีมือดีมาดำเนินการซึ่งย่อมจะต้องมีค่าจ้างสูงกว่าเงินค่าทดแทนที่ฝ่ายจำเลยคำนวณเพิ่มให้อยู่บ้าง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 45,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยเพิ่มค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์อีก 12,881 บาท นั้นชอบแล้ว
ส่วนเรื่องเงินค่าทดแทนสำหรับอาคารส่วนที่เหลือซึ่งโจทก์อ้างว่ามีราคาลดลงนั้น เห็นว่า อาคารของโจทก์ส่วนที่เหลือยังใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม ทั้งผลจากการเวนคืนทำให้อาคารพาณิชย์ของโจทก์ด้านซ้ายมือไม่ติดกับอาคารพาณิชย์ของบุคคลอื่นอีก ทำให้โจทก์สามารถปรับปรุงอาคารของโจทก์ให้อยู่อาศัยด้วยความสุขสบายมากกว่าเดิมตามที่ได้วินิจฉัยข้างต้นแล้ว ด้วยเหตุนี้อาคารส่วนที่เหลือของโจทก์จึงไม่ได้มีราคาลดลง ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนที่เหลือให้โจทก์นั้น ชอบด้วยเหตุผลแล้วเช่นกัน รวมแล้วโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินและเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยอีก 1,062,081 บาท ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยฟังขึ้นเป็นบางข้อ
อนึ่ง คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับจำเลยเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 8547 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 25506 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โจทก์ไม่ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับจำเลย และจำเลยได้วางเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์รายการนี้โดยฝากไว้กับธนาคารออมสินแล้ว ดังนั้น การหาวันเริ่มต้นคำนวณดอกเบี้ยของยอดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ทั้งสองจำนวนจะต้องใช้วิธีการแตกต่างกัน ทั้งโจทก์ก็ไม่จำต้องนำสืบถึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารออมสินว่ามีอัตราเท่าใด เพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายพิเศษให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น แต่จะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราตามคำขอของโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มีภาระการพิสูจน์โดยจะต้องนำสืบในเรื่องอัตราดอกเบี้ยแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในยอดเงินค่าทดแทนที่ได้รับเพิ่มขึ้นรวมกัน ทั้งกรณีที่มีการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และกรณีที่มีการวางเงินค่าทดแทนนับแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่ซึ่งลงในหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินและเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างในโฉนดที่ดินเลขที่ 25506 ตามเอกสารหมาย ล.14 โดยที่หนังสือฉบับนี้กำหนดให้โจทก์ไปรับเงินอย่างช้าที่สุดในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 นั้นไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ สำหรับปัญหานี้ เห็นว่า สำหรับเงินค่าทดแทนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 8547 ซึ่งโจทก์ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับจำเลยนั้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 11 กำหนดให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะต้องจ่ายเงินตามสัญญาดังกล่าวให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์วันสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะต้องจ่ายเงินตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ก็คือ วันที่หนึ่งร้อยยี่สิบนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์วันดังกล่าวนี้จึงเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคสาม เมื่อเงินค่าทดแทนจำนวนนี้มีวันที่ต้องมีการจ่ายแล้วก็จะต้องนับวันเริ่มต้นคำนวณดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 8547 นับแต่วันดังกล่าวโดยไม่ต้องคำนึงถึงวันที่วางเงินค่าทดแทนอีก โจทก์ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 8547 กับจำเลยเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีวินิจฉัยจำนวน 1,022,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไป ส่วนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 25506 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 1.70 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเนื้อที่ 9 ตารางวา โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยจำนวน 27,200 บาท กับเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยอีก 12,881 บาท ซึ่งรวมเป็นเงิน 40,081 บาท โจทก์ไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 25506 พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 10 จึงไม่มีวันต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 วันเริ่มต้นคำนวณดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนจำนวนนี้ย่อมเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดให้ไปรับเงินค่าทดแทนตามหนังสือเอกสารหมาย ล.14 อันเป็นวันที่จำเลยต้องนำเงินค่าทดแทนจำนวนนี้ไปวางตามมาตรา 28 วรรคสอง ซึ่งเป็นวันที่ต้องการวางเงินค่าทดแทนมาตรา 26 วรรคสาม คือวันที่ 3 กรกฎาคม 2540 นั่นเอง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมวินิจฉัยอีก 1,062,081 บาท แก่โจทก์ และชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้และโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ สำหรับยอดเงินจำนวน 1,022,000 บาท ให้นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2540 ส่วนยอดเงิน 40,081 บาท ให้นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share