คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8390/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ก่อนที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญา ผนังของห้องชุดพิพาทมีรอยแตกร้าวซึ่งจำเลยรับว่าจะแก้ไขให้เรียบร้อย และในวันที่ 26 ธันวาคม 2539 มีการนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทซึ่งเป็นวันหลังจากที่จำเลยอ้างว่าได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วเมื่อเดือนกันยายน 2539 การนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์ในเดือนกันยายน 2539 ซึ่งหลังจากนั้นจำเลยยังได้ยินยอมให้โจทก์เข้าไปตรวจรับห้องชุดพิพาทว่ายังมีรอยแตกร้าวต้องซ่อมแซมแก้ไขและจำเลยได้นัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทในวันที่ 26 ธันวาคม 2539 แต่ในวันดังกล่าวไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์กันเนื่องจากจำเลยเรียกเงินจากโจทก์อีก 50,000 บาท อ้างว่าโจทก์รับโอนห้องชุดพิพาทล่าช้า หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้แจ้งให้โจทก์มารับโอนห้องชุดพิพาทอีก เมื่อสัญญายังไม่เลิกกันและจำเลยไม่โอนห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายห้องชุดในโครงการอาคารชุดพักอาศัยทรัพย์แก้วทาวน์เวอร์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการดังกล่าว ห้องเลขที่ ซี 269 ชั้นที่ 19 เนื้อที่ 35.5 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 113428 ตำบลห้วยขวาง อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร กับจำเลยในราคา 740,000 บาท ตกลงชำระเงินในวันจอง 5,000 บาท ในวันทำสัญญา 5,000 บาท และระหว่างการก่อสร้างอาคารชุดจำนวน 24 งวด งวดละ 5,750 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2536 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2538 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 148,000 บาท โดยให้ถือว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินมัดจำ จำเลยตกลงจะส่งมอบห้องชุดในสภาพเรียบร้อยให้แก่โจทก์ประมาณเดือนเมษายน 2539 สำหรับเงินส่วนที่เหลืออีกจำนวน 592,000 บาท มีข้อตกลงให้ชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาและยังได้ชำระค่าตกแต่งเพิ่มเติมห้องชุดให้แก่จำเลยอีกจำนวน 1,470 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสิ้นจำนวน 149,470 บาท เมื่อครบกำหนดส่งมอบปรากฏว่าผนังของห้องชุดดังกล่าวมีรอยร้าวเป็นแนวยาวจากเพดานถึงพื้นห้อง จำเลยจึงขอเลื่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นวันที่ 26 ธันวาคม 2539 แต่จำเลยก็ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ตามที่ตกลงได้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและทวงถามขอเงินคืน แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องรับผิดคืนเงินจำนวน 149,470 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2540 อันเป็นวันครบกำหนดให้จำเลยชำระเงินคืน คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 1,627.78 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 151,097.78 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 151,097.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 149,470 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี จำเลยทำสัญญาจะขายห้องชุดให้แก่โจทก์ตามฟ้องจริง จำเลยไม่เคยแจ้งหรือตกลงว่าจะก่อสร้างและส่งมอบห้องชุดในสภาพเรียบร้อยให้แก่โจทก์ประมาณเดือนเมษายน 2539 แต่ตกลงว่าเมื่อจำเลยก่อสร้างเสร็จแล้วจะแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือและรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในวันที่ 26 ธันวาคม 2539 และไม่เคยขอเลื่อนการโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยก่อสร้างอาคารชุดเสร็จประมาณต้นปี 2539 และได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแก่โจทก์ให้ชำระเงินส่วนที่เหลือและนัดโอนกรรมสิทธิ์แล้ว แต่โจทก์เพิกเฉย จนครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกันยายน 2539 จำเลยได้มีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระเงินให้ครบถ้วนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ พร้อมกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 20 กันยายน 2539 หากพ้นกำหนดถือว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน เงินที่โจทก์ชำระมาแล้วจะริบเป็นของจำเลยทั้งหมด แต่โจทก์ยังคงเพิกเฉยเช่นเดิม โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาภายหลังสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินมัดจำจำนวน 148,000 บาท คืน และไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าตกแต่งเพิ่มเติมห้องชุดจำนวน 1,470 บาท จากจำเลยเพราะจำเลยไม่เคยตกลงรับตกแต่งเพิ่มเติมห้องชุดและรับเงินจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 148,000 บาท คืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 30 กันยายน 2540) ต้องไม่เกิน 1,627.78 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายห้องชุดเพื่อบุคคลภายนอกในโครงการอาคารชุดพักอาศัยทรัพย์แก้วทาวน์เวอร์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเลขที่ ซี 269 ชั้นที่ 19 เนื้อที่ 35.5 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 113428 ตำบลห้วยขวาง อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ของโครงการดังกล่าวกับจำเลยในราคา 740,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินในวันจอง 5,000 บาท ในวันทำสัญญา 5,000 บาท และชำระในระหว่างก่อสร้างห้องชุดจำนวน 24 งวด งวดละ 5,750 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ได้ชำระไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 148,000 บาท สำหรับเงินที่เหลืออีกจำนวน 592,000 บาท มีข้อตกลงให้ชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยได้รับเงินจำนวน 148,000 บาท แล้ว แต่จำเลยมิได้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ จำเลยอ้างว่าจำเลยบอกเลิกแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2539 ก่อนที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงระงับสิ้นไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยอีก เห็นว่า ก่อนที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ ปรากฏว่าผนังของห้องชุดพิพาทมีรอยแตกร้าวซึ่งจำเลยรับกับโจทก์ว่าจะแก้ไขรอยแตกร้าวในห้องชุดพิพาทให้เรียบร้อย และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 จำเลยได้ให้โจทก์เข้าตรวจรับห้องชุดพิพาทตามใบตรวจรับเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งพบว่าห้องชุดพิพาทมีรอยแตกร้าวต้องซ่อมแซม และในวันที่ 26 ธันวาคม 2539 ได้มีการนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทซึ่งเป็นวันหลังจากที่จำเลยอ้างว่าได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว การที่มีการนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทหลังจากที่จำเลยอ้างว่าได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วนั้น แสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์ในเดือนกันยายน 2539 ทั้งหลังจากนั้นจำเลยยังได้ยินยอมให้โจทก์เข้าไปตรวจรับห้องชุดพิพาทและจำเลยได้นัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับโจทก์ในวันที่ 26 ธันวาคม 2539 แต่ในวันดังกล่าวไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์กัน เนื่องจากจำเลยเรียกเงินจากโจทก์อีก 50,000 บาท โดยอ้างว่าโจทก์รับโอนห้องชุดพิพาทล่าช้า หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้แจ้งให้โจทก์มารับโอนห้องชุดพิพาทอีก เมื่อสัญญายังไม่เลิกกันและจำเลยไม่โอนห้องชุดพิพาทให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share