คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4310/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าเป็นความผิดอันยอมความได้ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 66 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ก็ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ แม้ในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานระบุไว้ว่า “นาย ศ. อายุ 26 ปี… ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท อาร์ เอส ให้แจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์วีซีดีภาพยนตร์… เพื่อดำเนินคดีต่อไป” ก็ไม่ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์ โดยถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) เพราะมิได้ชัดแจ้งว่าเป็นการแจ้งความโดยเจตนา จะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ เป็นเหตุให้การสอบสวนในความผิดฐานนี้ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 120

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 28, 31, 61, 70, 75 และ 76 ให้วีซีดีภาพยนตร์ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ จำนวน 4 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาบริษัทอาร์. เอส. โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า คดีนี้มีการแจ้งความร้องทุกข์โดยชอบและโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่โดยโจทก์ร่วมอุทธรณ์ในทำนองว่า คำเบิกความของพันตำรวจตรีสุรวุฒิ กุมภีพงษ์ พนักงานสอบสวน พยานโจทก์และโจทก์ร่วมน่าเชื่อถือและรับฟังได้ว่ามีการแจ้งความร้องทุกข์โดยชอบแล้ว เห็นว่า พันตำรวจตรีสุรวุฒิเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ได้เป็นคนจัดทำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน เมื่อความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามฟ้องเป็นความผิดอันยอมความได้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 66 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ก็ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง การที่ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏเพียงว่ามีการแจ้งความไว้ในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน โดยมีข้อความระบุไว้ในรายงานประจำวันฯ ความว่า “นายศุภมิตร ดิลกโชติ อายุ 26 ปี…ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท อาร์ เอส ให้แจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์วีซีดีภาพยนตร์…เพื่อดำเนินคดีต่อไป” เท่านั้น ซึ่งการรับแจ้งความเช่นนี้แม้จะมีคำว่าร้องทุกข์อยู่ด้วย ก็ไม่ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์ โดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) เพราะมิได้ชัดแจ้งว่าเป็นการแจ้งความโดยเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ เป็นเหตุให้การสอบสวนในความผิดฐานนี้ไม่ชอบโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share