แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หนี้ตามคำพิพากษากำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน เป็นกรณีคำพิพากษากำหนดขั้นตอนการบังคับคดีไว้ ซึ่งโจทก์ต้องบังคับคดีไปตามลำดับ โจทก์มีพยานมาเบิกความเพียงว่า ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ไม่พบ โดยมิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามไม่สามารถคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ได้ ซึ่งในข้อนี้กลับได้ความจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตอบคำถามค้านว่าจำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งจำเลยทั้งสามให้การต่อสู้มาโดยตลอดว่าสามารถนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาส่งมอบคืนได้ กรณีน่าเชื่อว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อยังมีอยู่ และโจทก์ยังสามารถบังคับให้จำเลยทั้งสามคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ จึงยังไม่แน่ชัดว่าหนี้ที่จะบังคับให้ใช้ราคาแทนการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจะมีหรือไม่ จึงเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 9 (3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา ซึ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน ยอดหนี้ตามคำพิพากษาคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,936,750 บาท โจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามแล้วไม่พบว่ามีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กับโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน และจำเลยทั้งสามได้รับหนังสือทวงถามของโจทก์แล้วทั้งสองครั้งแต่ไม่ชำระหนี้กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าจำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามมิได้เป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเนื่องจากจำเลยทั้งสามประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งและมีรายได้ที่แน่นอน ทั้งโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ไว้แล้วจำนวน 1 แปลง โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้เป็นเงิน 2,093,130 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างประกาศขายทอดตลาด หากไม่พอชำระหนี้จำเลยทั้งสามสามารถคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “หนี้ตามคำพิพากษากำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้จึงให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคารถยนต์ ดังนี้เป็นกรณีคำพิพากษากำหนดขั้นตอนการบังคับคดีไว้ ซึ่งโจทก์จะต้องบังคับคดีไปตามลำดับในคำพิพากษาโดยจะต้องบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนก่อน หากไม่สามารถบังคับเอาตัวรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้จึงจะสามารถบังคับเอาราคาใช้แทนได้ ตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามไม่สามารถคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ได้ โจทก์คงมีเพียงนางสาวยุวนันท์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และนายกนกศักดิ์ เจ้าหน้าที่สืบทรัพย์และบังคับคดีของโจทก์มาเบิกความเป็นพยานเพียงว่า โจทก์ได้ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้วแต่ไม่พบ ซึ่งในข้อนี้กลับได้ความจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 บุตรจำเลยที่ 1 ซึ่งพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันกับจำเลยที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองใช้รถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่ที่บ้านจำเลยที่ 1 โจทก์ก็ไม่ได้ซักค้านให้เห็นเป็นอย่างอื่น ทั้งจำเลยทั้งสามให้การต่อสู้มาโดยตลอดว่าสามารถนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาส่งมอบคืนแก่โจทก์ได้ กรณีน่าเชื่อว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อยังมีอยู่และโจทก์ยังสามารถบังคับให้จำเลยทั้งสามคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ซึ่งหากการคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อยังอยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิบังคับให้ใช้ราคาแทนจำนวน 1,250,000 บาท เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีตามลำดับในคำพิพากษา กรณีจึงไม่แน่ชัดว่าหนี้ที่จะบังคับให้ใช้ราคาแทนการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจะมีหรือไม่ จึงเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน