คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6442/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลัง ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ได้แก้ไขวันที่ลงในเช็ค ซึ่งถือเป็นข้อสำคัญ เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น เช็คพิพาทเป็นอันเสียเฉพาะจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเช็คพิพาทมาฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 352,345 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 335,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 352,345 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 335,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 352,345 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 335,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 15 พฤศจิกายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 ฉบับที่สองลงวันที่ 9 ธันวาคม 2538 ได้มีการนำเช็คทั้งสองฉบับไปแลกเงินสดจากโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขีดฆ่าเปลี่ยนแปลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คทั้งสองฉบับ ฉบับแรกแก้เป็นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 ฉบับที่สองแก้เป็นวันที่ 9 ธันวาคม 2541 โดยการแก้ไขเห็นประจักษ์ เช็คพิพาททั้งสองฉบับมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลัง ต่อมาเมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้โจทก์หรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 แก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่ที่ลงในเช็คพิพาทโดยจำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขวันที่ที่ลงในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมหรือไม่ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้สลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับก่อนที่มีการนำไปขายให้โจทก์ ไม่ใช่สลักหลังภายหลังที่มีการแก้ไขวันที่ลงในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ และฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้แก้ไขวันที่ลงในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ การแก้ไขดังกล่าวเป็นข้อสำคัญ เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นอันเสียเฉพาะจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้ ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความรวมสองศาล 10,000 บาท.

Share