แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จะถือว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี คำว่า คู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้น ๆ ตามกฎหมายหรือในฐานะทนายความ การที่ผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ 1 มาศาลถือว่าคู่ความฝ่ายจำเลยที่ 1 มาศาลแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคหนึ่ง ที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา และนำเอากระบวนพิจารณาโดยขาดนัดมาใช้บังคับแก่คดี ดังนั้น คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาและดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวโดยมิได้ให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสสืบพยานของตน จึงเป็นคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐาน อีกทั้งการที่ทนายจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนการพิจารณาคดีเนื่องจากเพิ่งได้รับการติดต่อจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นทนายความและทนายความจำเลยที่ 1 ติดว่าความที่ศาลอื่นซึ่งได้นัดไว้ก่อนแล้ว ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 ศาลฎีกามีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) และมาตรา 247 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย กับมีคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของนายพิทักษ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาศาลล้มละลายกลางไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดีและถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์ขอถอนฟ้อง ศาลล้มละลายกลางอนุญาตและให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า การที่ศาลล้มละลายกลางไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยที่ 1 เลื่อนการพิจารณาคดีและถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณานั้นเป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ การที่จะถือว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี คำว่า คู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (11) หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้น ๆ ตามกฎหมายหรือในฐานะทนายความ การที่ผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ 1 มาศาลถือว่าคู่ความฝ่ายจำเลยที่ 1 มาศาลแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 วรรคหนึ่ง ที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา และนำเอากระบวนพิจารณาโดยขาดนัดมาใช้บังคับแก่คดี ดังนั้น คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาและดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวโดยมิได้ให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสสืบพยานของตนจึงเป็นคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐาน อีกทั้งการที่ทนายจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนการพิจารณาคดีเนื่องจากเพิ่งได้รับการติดต่อจำเลยที่ 1 ให้เป็นทนายความและทนายความจำเลยที่ 1 ติดว่าความที่ศาลอื่นซึ่งได้นัดไว้ก่อนแล้ว ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 ศาลฎีกามีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) และมาตรา 247 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาและถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา กับคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด ให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 ใหม่ แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้รวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่.