คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5628/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถยนต์โจทก์ชนกับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ หลังเกิดเหตุโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงค่าเสียหายว่าโจทก์เรียกร้องให้ฝ่ายจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนของตัวรถยนต์ของโจทก์ โดยนำไปซ่อมให้อยู่ในสภาพเดิมทุกประการ และฝ่ายจำเลยที่ 1 ตกลงใช้ค่าเสียหายของรถยนต์ของโจทก์โดยทางบริษัท ล. ซึ่งทางเจ้าของรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเป็นผู้เอาประกันไว้ ซึ่งโจทก์ไม่ขัดข้อง ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวยังมีเงื่อนไขว่าโจทก์ต้องไปตกลงค่าเสียหายผ่านผู้รับประกันภัยรถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับอีก ยังไม่มีความชัดเจนทั้งในเรื่องความรับผิดของบริษัทประกันภัยที่มีต่อโจทก์และจำนวนค่าเสียหาย จึงเป็นข้อตกลงที่ยังไม่ปราศจากการโต้แย้ง ถือไม่ได้ว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ อันจะทำให้หนี้จากมูลละเมิดระงับไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2538 โจทก์ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ฮ – 7133 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 30 – 7177 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามหลังโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับชนท้ายรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 131,150 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 122,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงค่าเสียหายระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าหลังเกิดเหตุโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงค่าเสียหายโดยข้อ 1 ของบันทึกข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า โจทก์เรียกร้องให้ฝ่ายจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนของตัวรถยนต์ของโจทก์ โดยนำไปซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมทุกประการ และในข้อ 3 ระบุว่าฝ่ายจำเลยที่ 1 ตกลงใช้ค่าเสียหายของรถยนต์ของโจทก์ โดยทางบริษัทลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด ซึ่งทางเจ้าของรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเป็นผู้เอาประกันภัยไว้ ซึ่งโจทก์ไม่ขัดข้อง เห็นว่า แม้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ในส่วนของความเสียหายที่เกิดแก่รถยนต์ของโจทก์ก็ตาม แต่ยังมีเงื่อนไขว่าโจทก์ต้องไปตกลงค่าเสียหายผ่านผู้รับประกันภัยรถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับอีก ทั้งยังไม่มีความชัดเจนทั้งในเรื่องความรับผิดของบริษัทประกันภัยที่มีต่อโจทก์และจำนวนค่าเสียหาย จึงเป็นข้อตกลงที่ยังไม่ปราศจากการโต้แย้ง ยังถือไม่ได้ว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นสัญญาระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้หนี้จากมูลละเมิดระงับไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและเห็นว่า เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาลจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นข้ออื่น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นข้ออื่นต่อไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share