คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3417/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงาน หากจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยอมรับผิดร่วมกัน จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 มิได้ยกเรื่องอำนาจศาลขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เพิ่งมายกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์แสดงว่าคู่ความยอมรับอำนาจศาลแล้ว ปัญหาดังกล่าวจึงมิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
จำเลยที่ 3 และที่ 5 แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าไม่ประสงค์จะต่อสู้คดี แต่ไม่มีเงินพอชำระหนี้แก่โจทก์ ขอเลื่อนคดีไปสักนัดหนึ่งก่อน โดยมิได้ปฏิเสธว่ามิใช่ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ถือได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 5 รับว่าเป็นผู้ค้ำประกันแล้วโดยที่โจทก์ไม่จำต้องนำสืบถึงสัญญาค้ำประกันอีก ฉะนั้น แม้สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ. 6 และ จ. 8 จะมิได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 118 ก็ฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 5 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์จริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 283,965 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งห้าขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 283,965 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ นิติสัมพันธ์ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์เป็นสัญญาจ้างทำของ โจทก์ไม่สามารถฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกต่อศาลแรงงานได้ เห็นว่า ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 บัญญัติว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยแจ้งชัดในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 5 มิได้ยกเรื่องอำนาจศาลขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ เพิ่งมายกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ แสดงว่าคู่ความยอมรับอำนาจศาลแล้ว ปัญหาดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์ประการต่อมาว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันที่โจทก์อ้างส่งศาลปิดอากรแสตมป์แล้ว แต่มิได้ขีดฆ่าย่อมถือว่ายังไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 118 จะใช้เป็นพยานหลักฐานฟังว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงในสำนวนได้ความว่า ขณะโจทก์ยื่นหนังสือค้ำประกันในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางยังมิได้มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ เพิ่งจะมาขีดฆ่าในภายหลังศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มาศาลและแถลงว่าไม่ประสงค์จะต่อสู้คดี แต่ไม่มีเงินพอชำระหนี้แก่โจทก์ ขอเลื่อนคดีไปสักนัดหนึ่งก่อน โดยที่จำเลยที่ 3 และที่ 5 มิได้ปฏิเสธว่ามิใช่ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 รับว่าเป็นผู้ค้ำประกันแล้ว โดยที่โจทก์ไม่จำต้องนำสืบถึงสัญญาค้ำประกันอีก ฉะนั้นแม้สัญญาค้ำประกันจะมิได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 118 ก็ฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 5 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์จริง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share