คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ร. ผู้จัดการมรดกผู้ตายจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่ทายาทผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต แล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย ดังนั้น จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลที่ตั้งนางรวมเป็นผู้จัดการมรดกของนายแดง แล้วให้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางแดงแทน ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างนางรวม ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางแดงกับจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ในที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และให้จำเลยทั้งสามส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยปราศจากภาระติดพัน
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากนางรวมในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแดง จำเลยที่ 1 จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของมีสิทธิจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 3 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมเมื่อพ้น 1 ปี และการจัดการมรดกของนายแดงเสร็จสิ้นแล้วในวันที่ 22 เมษายน 2536 โจทก์ไม่สามารถฟ้องขอเพิกถอนผู้จัดการมรดกได้ คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ได้รับมาจนถึงปัจจุบันโดยความสงบเรียบร้อยและเปิดเผยด้วยเจตนาความเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยที่ 2 จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 11053 ตำบลคณฑี อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ระหว่างนางรวมในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแดงกับจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยกและให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทระหว่างนางรวมในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแดงกับจำเลยที่ 1 และนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายแดงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท เมื่อนายแดงถึงแก่ความตาย ที่ดินจึงเป็นมรดกตกแก่โจทก์ซึ่งเป็นมารดาของนายแดง นางรวมเป็นผู้จัดการมรดกของนายแดงตามคำสั่งศาล มีหน้าที่โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่นางรวมในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแดงกลับจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ตามสำเนาโฉนดที่ดิน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบอ้างว่าจำเลยที่ 1 เบิกเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 30,000 บาท มาชำระค่าซื้อที่ดินพิพาทก็ไม่มีหลักฐานการเบิกเงินจากธนาคารมาแสดง ที่ดินพิพาทกับที่ดินอีก 1 แปลง หากซื้อจากบุคคลอื่นราคาไร่ละ 2,000 – 3,000 บาท คิดแล้วเป็นเงินประมาณ 70,000 บาท แต่กลับตกลงซื้อขายกันเพียง 45,000 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำมากโดยเฉพาะที่ดินพิพาทคดีนี้จำเลยที่ 2 สามารถนำไปจำนองกับธนาคารได้ถึง 130,000 บาท จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และนางรวมในฐานะผู้จัดการมรดกจะทำสัญญาซื้อขายกันจริง เมื่อฟังประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางรวมร่วมบิดาเดียวกัน จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่า นางแดงเป็นบุตรโจทก์และนางรวมเป็นผู้จัดการมรดกนายแดงดังวินิจฉัยข้างต้น ดังนี้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 และนางรวมกระทำการโอนที่ดินพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยเสน่หาจึงเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทระหว่างนางรวมในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแดงกับจำเลยที่ 1 และนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 อนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่ทายาทของนางแดง ดังนั้น จะนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย…
พิพากษายืนให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์.

Share