คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5896/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าข้อ 7 ระบุว่า สมาชิกต้องไม่นำรถยนต์ไปให้ผู้อื่นขับขี่เป็นอันขาด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทราบแต่แรกว่าไม่สามารถนำรถของตนให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่า สัญญาดังกล่าวนี้จึงเป็นการทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำรถออกรับจ้างเท่านั้น เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญายอมผูกพันให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รอยตราหรือเครื่องหมายและคำว่า “สหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก” ไว้ที่ด้านข้างของรถแท็กซี่เพื่อออกแล่นรับผู้โดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จำเลยร่วมที่ 2 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การนำรถแท็กซี่เข้าร่วมเป็นกิจการและตรงตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้ผลประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่ที่มีตราของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับจ้าง จำเลยร่วมที่ 2 เจ้าของรถย่อมต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวม 232,421 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 221,758 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถแท็กซี่คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมและโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายณัฐเวช ซึ่งเป็นเจ้าของรถแท็กซี่คันเกิดเหตุเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยเรียกบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย จำกัด เป็นจำเลยร่วมที่ 1 และเรียกนายณัฐเวช เป็นจำเลยร่วมที่ 2
จำเลยร่วมที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยร่วมที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 232,421 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 221,758 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยร่วมที่ 2 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาสอบถามว่า จะดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงไม่ขอเข้าว่าคดีแทนจำเลยร่วมที่ 1 ขอให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยร่วมที่ 1 จากสารบบความนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แพ้คดี และจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ดังนั้น เมื่อคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว จึงไม่จำต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับการจำหน่ายคดีของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ศง 1998 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์บริการ ซึ่งมีจำเลยร่วมที่ 2 เจ้าของรถยนต์แท็กซี่หมายเลขทะเบียน พท 2201 กรุงเทพมหานคร นำมาเข้าแล่นในนามจำเลยที่ 2 ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์แท็กซี่คันดังกล่าวด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์ที่เอาประกันภัยกับโจทก์ได้รับความเสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมที่ 2 ว่า จำเลยร่วมที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ จำเลยร่วมที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยร่วมที่ 2 ประกอบอาชีพให้เช่ารถแท็กซี่ โดยจำเลยที่ 1 มาขอเช่ารถแท็กซี่คันเกิดเหตุ จำเลยร่วมที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่ผู้เช่าไปก่อขึ้นนั้น เห็นว่า พยานของจำเลยร่วมที่ 2 มีจำเลยร่วมที่ 2 กับนางจริยา มารดาจำเลยร่วมที่ 2 เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ได้นำรถยนต์แท็กซี่คันเกิดเหตุให้จำเลยที่ 1 เช่า แต่ในสัญญาไม่ได้ระบุค่าเช่ากันไว้และจำเลยร่วมที่ 2 ก็มิได้เบิกความถึงจำนวนอัตราค่าเช่ากันด้วย คงระบุว่าสามารถนำรถของตนให้เช่าได้ตามสัญญาว่าด้วยการนำรถยนต์เข้ามาเดินร่วมกับสหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จำกัด ซึ่งเมื่อพิจารณาสัญญาที่จำเลยร่วมที่ 2 ทำกับจำเลยที่ 2 แล้วในสัญญาข้อ 7 ระบุว่า สมาชิกสหกรณ์ต้องไม่นำรถยนต์หรือป้ายทะเบียนของสหกรณ์ไปให้ผู้อื่นขับขี่เป็นอันขาด แสดงว่าจำเลยร่วมที่ 2 ทราบแต่แรกว่าไม่สามารถนำรถของตนให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่า สัญญาเช่านี้จึงเป็นการทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำรถออกไปรับจ้างเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการเช่ากันจริง เพราะไม่มีข้อความระบุในสัญญาเช่าชัดเจนว่าจะตกลงเช่ากันในอัตราเท่าใด ทั้งผู้ให้เช่าก็มิใช่จำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อในสัญญาด้วย ถือได้ว่าจำเลยร่วมที่ 2 เป็นตัวการเชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน ข้ออ้างจำเลยร่วมที่ 2 ข้อนี้ จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยร่วมที่ 2 ฎีกาต่อไปว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์จำเลยที่ 2 ก็เพื่อส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจและช่วยเหลือประกอบธุรกิจ ไม่ใช่เป็นการร่วมลงทุนหรือแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์กัน ต่างฝ่ายต่างประกอบกิจการ จึงไม่อาจเป็นตัวการหรือเชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนและไม่ใช่นายจ้างลูกจ้างกัน จำเลยร่วมที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า จำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญายอมผูกพันซึ่งกันและกันให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รอยตราหรือเครื่องหมายและคำว่า “สหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก.” จำเลยที่ 2 ไว้ที่ด้านข้างของรถแท็กซี่ เพื่อออกแล่นรับผู้โดยสารในนามของจำเลยที่ 2 ได้โดยเปิดเผย ซึ่งจำเลยร่วมที่ 2 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การนำรถเข้าร่วมเป็นกิจการและตรงตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้ผลประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์แท็กซี่ที่มีตราของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับจ้างต่อคนทั่วไปที่ได้พบเห็นรถยนต์แท็กซี่คันดังกล่าว ซึ่งส่งผลต่อมายังจำเลยร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์แท็กซี่คันที่จำเลยที่ 1 ขับ โดยนำออกแล่นในนามจำเลยที่ 2 ย่อมจะต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 เช่นกัน ไม่ใช่เป็นกรณีต่างคนต่างประกอบกิจการแยกจากกัน ดังนั้น การที่จำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันกับได้เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยร่วมที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share