คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6097/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยสามารถจำกัดความรับผิดตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งเป็นเงิน 852 เอสดีอาร์ เมื่อโจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเป็นเงินบาทเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2553 ในการพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จึงต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว แม้คู่ความจะไม่ได้อุทธรณ์ปัญหานี้ขึ้นมาก็เห็นสมควรให้อัตราแลกเปลี่ยนไม่เกินอัตราในวันดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมกับดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องแก่โจทก์รวมเป็นเงินจำนวน 299,720.22 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 295,350.65 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 952 เอสดีอาร์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากชำระเป็นเงินไทยให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาใช้เงิน แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 ธันวาคม 2553) หากคิดเป็นเงินไทยต้องไม่เกิน 4,369.57 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังยุติว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 บริษัทฟาบริเนท จำกัด สั่งซื้อสินค้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับใช้กับคอมพิวเตอร์ จากผู้ขายในประเทศสหรัฐอเมริกา 3 ราย โดยซื้อสินค้าจากบริษัทอินเตอร์พาวเวอร์ คอร์เปอร์เรชั่น 110 ชุด ราคารวม 2,756.60 ดอลลาร์สหรัฐ ซื้อสินค้าจากบริษัทดิจิคีย์ คอร์เปอร์เรชั่น 2 รายการ ราคารวม 3,924 ดอลลาร์สหรัฐ และซื้อสินค้าจากบริษัทฟิวเจอร์ อิเล็กทรอนิกส์ คอร์เปอร์เรชั่น 2 รายการ ราคารวม 1,600.50 ดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทฟาบริเนท จำกัด ประเทศไทย ได้มอบหมายให้บริษัทฟาบริเนท จำกัด ในประเทศสหรัฐอเมริกา รวบรวมสินค้าจากผู้ขายสินค้าทั้งสามและผู้ขายสินค้ารายอื่น ๆ จากนั้นบริษัทฟาบริเนท จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ว่าจ้างบริษัทยูพีเอส ซัพพลายเชน โซลูชั่น อิ้งค์ ให้ขนส่งสินค้าพร้อมกับสินค้าอื่น ๆ รวม 115 กล่อง ทางเครื่องบินจากเมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา มายังประเทศไทย เพื่อส่งมอบให้แก่บริษัทฟาบริเนท จำกัด ในประเทศไทย เมื่อบริษัทยูพีเอส ซัพพลายเชน โซลูชั่น อิ้งค์ ได้รับสินค้าครบถ้วนในสภาพเรียบร้อยแล้วได้ออกใบรับขนของทางอากาศให้แก่บริษัทฟาบริเนท จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา และบริษัทยูพีเอส ซัพพลายเชน โซลูชั่น อิ้งค์ ได้ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งสินค้าทางเครื่องบินจากเมืองลอสแองเจลิสมายังประเทศไทย โดยจำเลยได้รับสินค้าครบถ้วนในสภาพเรียบร้อยดีแล้วและได้ออกใบรับขนของทางอากาศให้แก่บริษัทยูพีเอส ซัพพลายเชน โซลูชั่น อิ้งค์ ซึ่งมีข้อความระบุถึงการจำกัดความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ขนส่งไว้ 17 เอสดีอาร์ (SDR) ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ต่อมาเครื่องบินซึ่งจำเลยใช้ในการขนส่งสินค้าเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่กล่องบรรจุสินค้าเปียกน้ำในระหว่างการขนส่งของจำเลย 20 กล่อง และเมื่อสำรวจความเสียหายของสินค้าโดยละเอียดที่โรงงานของบริษัทฟาบริเนท จำกัด พบว่า สินค้าเปียกน้ำเสียหายจำนวน 5 กล่อง กล่องที่ 1 เป็นสินค้าไอซีบูสท์ จำนวน 3,000 ชิ้น กล่องที่ 2 ถึงที่ 4 รวม 3 กล่อง เป็นสินค้าสายเคเบิลอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 110 ชุด และกล่องที่ 5 เป็นสินค้ารีซิสเตอร์ จำนวน 5,000 ชิ้น บริษัทฟาบริเนท จำกัด ปฏิเสธไม่รับสินค้าทั้งห้ากล่อง เนื่องจากสินค้าเปียกน้ำแล้วไม่สามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้และเพื่อป้องกันความเสียหายต่อยี่ห้อของบริษัทฟาบริเนท จำกัด บริษัทไม่อนุญาตให้นำซากสินค้าที่เสียหายนี้ออกไปขายเพื่อบรรเทาความเสียหายได้ โดยสินค้าที่ได้รับความเสียหายมีมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 8,281.10 ดอลลาร์สหรัฐ และโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 295,350.65 บาท ตามสัญญาประกันภัยให้แก่บริษัทฟาบริเนท จำกัด ไปเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2553
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า ข้อตกลงจำกัดความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่งไว้ไม่เกิน 17 เอสดีอาร์ ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ในใบรับขนของทางอากาศเอกสารหมาย จ. 9 หรือ ล. 2 นั้น ผู้ส่งตกลงด้วยโดยชัดแจ้งหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งทางอากาศที่ได้รับสินค้าและการว่าจ้างจากบริษัทยูพีเอส ซัพพลายเชน โซลูชั่น อิ้งค์ เพื่อขนส่งสินค้าโดยเครื่องบินจากเมืองลอสแองเจลิสมายังสนามบินสุวรรณภูมิตามใบรับขนของทางอากาศฉบับดังกล่าว ทั้งนี้โดยบริษัทยูพีเอส ซัพพลายเชน โซลูชั่น อิ้งค์ ได้รับสินค้าและตกลงรับขนส่งจากบริษัทฟาบริเนท จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา ไว้ก่อน ตามใบรับขนของทางอากาศเอกสารหมาย จ. 8 ซึ่งเป็นใบรับขนของทางอากาศที่บริษัทยูพีเอส ซัพพลายเชน โซลูชั่น อิ้งค์ ออกให้โดยระบุชื่อ บริษัทฟาบริเนท จำกัด ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ส่งและบริษัทฟาบริเนท จำกัด ในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์เป็นผู้รับตราส่ง ครั้นเมื่อบริษัทยูพีเอส ซัพพลายเชน โซลูชั่น อิ้งค์ ได้ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งและจำเลยออกใบรับขนของทางอากาศให้ตามเอกสารหมาย จ. 9 หรือ ล. 2 นั้น ใบรับขนของทางอากาศฉบับนี้ระบุชื่อ บริษัทยูพีเอส ซัพพลายเชน โซลูชั่น อิ้งค์ เป็นผู้ส่งและบริษัทยูพีเอส เอสซีเอส เซอร์วิส (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้รับตราส่ง โดยในช่องลายมือชื่อผู้ส่งหรือตัวแทนก็ระบุชื่อโรเบิร์ต ยูพีเอส ซัพพลายเชน โซลูชั่น อิ้งค์ ลอสแองเจลิส และยังมีข้อความในหน้าเดียวกับช่องลายมือชื่อผู้ส่งนี้ระบุถึงมีการตกลงและข้อจำกัดความรับผิดที่อยู่ด้านหลังด้วยและตามใบรับขนของทางอากาศที่บริษัทยูพีเอส ซัพพลายเชน โซลูชั่น อิ้งค์ ออกให้ตามเอกสารหมาย จ. 8 ก็มีข้อความเกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดของบริษัทในฐานะผู้ขนส่งตามใบรับขนของทางอากาศเอกสารหมาย จ. 8 ด้วยเช่นกัน แสดงว่าบริษัทดังกล่าวทราบถึงการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งดีอยู่แล้ว เมื่อบริษัทดังกล่าวมาเป็นผู้ส่งตามใบรับขนของทางอากาศเอกสารหมาย จ. 9 หรือ ล. 2 จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าบริษัทในฐานะผู้ส่งตามใบรับขนของทางอากาศเอกสารหมาย จ. 9 หรือ ล. 2 ตกลงในข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยในใบรับขนของทางอากาศนี้โดยชัดแจ้งแล้ว ส่วนบริษัทฟาบริเนท จำกัด ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเพียงผู้ส่งตามใบรับขนของทางอากาศที่บริษัทยูพีเอส ซัพพลายเชน โซลูชั่น อิ้งค์ ออกให้ตามเอกสารหมาย จ. 8 ไม่ใช่ผู้ส่งของตามใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยออกให้แต่อย่างใด ดังนี้ เมื่อใบรับขนของทางอากาศซึ่งจำเลยออกให้มีข้อจำกัดความรับผิดซึ่งผู้ส่งตามใบรับขนของทางอากาศฉบับนี้คือ บริษัทยูพีเอส ซัพพลายเชน โซลูชั่น อิ้งค์ ได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้งแล้ว ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้ไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 จำเลยจึงต้องรับผิดจำกัดตามจำนวนจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในใบตราส่งแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 952 เอสดีอาร์ พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ศาลดังกล่าวพิพากษาให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของหน่วยเอสดีอาร์ในเวลาใช้เงินนั้น เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ให้แก่บริษัทฟาบริเนท จำกัด ไปเป็นเงินบาทเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2553 จึงต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ซึ่งแม้คู่ความจะไม่ได้อุทธรณ์ปัญหานี้ขึ้นมา ก็เห็นสมควรกำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนไม่เกินอัตราในวันดังกล่าว นอกจากนี้ที่คำพิพากษาศาลดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของสถาบันใดอันอาจเกิดปัญหาในชั้นบังคับคดี จึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีต่อไป โดยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยในทำนองเดียวกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 35
พิพากษาแก้เป็นว่า การคิดอัตราแลกเปลี่ยนหน่วยเอสดีอาร์เป็นเงินบาทให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและต้องไม่เกินกว่าอัตราในวันที่ 20 กันยายน 2553 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share