แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ได้กรรมสิทธิที่ดินมาโดยการครอบครอง ยังมิได้จดทะเบียนจะยกสิทธินี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับบุคคลภายนอกซึ่งได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ทั้งได้จดทะเบียนสิทธิแล้ว หาได้ไม่
ขอประกาศรับมรดกที่ดินของผู้อื่น เมื่อได้มาแล้วก็ยกให้อีกคนหนึ่งคนที่ได้รับการยกให้ ได้เอาที่ดินนั้นไปจำนองไว้แก่บุคคลภายนอก ถ้าการจำนองนี้กระทำกันโดยสุจริต เจ้าของที่ดินก็ขอให้เพิกถอนการจำนองไม่ได้ คงเพิกถอนได้เฉพาะการรับมรดกและการโอนให้ เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทบางส่วนเป็นของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ได้มาขอประกาศรับมรดกแล้วโอนใส่ชื่อจำเลยที่ ๒ ในประเภทยกให้ในวันเดียวกันแล้วต่อมาจำเลยที่ ๒ – ๓ ได้มาแสดงเจตนาสมรู้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยให้เจ้าพนักงานที่ดิน ทำสัญญาจำนองให้จำเลยที่ ๒ เป็นจำนอง จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับจำนองซึ่งเป็นการไม่สุจริต จึงขอให้เพิกถอนการโอนมรดกและการจำนองเสีย ฯลฯ
ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทส่วนที่ฟ้อง จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับโอนประเภทให้ จะมีสิทธิดีกว่า ผู้โอนไม่ได้ และคดีไม่เข้ามาตรา ๑๒๙๙ แห่งป.ม.แพ่งฯ แต่การจำนองที่จำเลยที่ ๒ ทำไว้กับจำเลยที่ ๓ นั้น โจทก์สืบไม่ได้ว่าเป็นไปโดยไม่สจริตโจทก์ ซึ่งได้กรรมสิทธิในที่รายนี้ โดยไม่จดทะเบียนจะขอให้เพิกถอนการจำนองไม่ได้ จึง พิพากษาว่าที่ดินตามส่วนที่กล่าวในฟ้องเป็นของโจทก์ ให้เพิกถอนการโอนมรดกและการยกให้เฉพาะที่ดินส่วนนี้เสีย คำขอให้เพิกถอนการจำนองให้ยก
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า บรรดาพวกโจทก์ทีได้กรรมสิทธิที่ดินรายพิพาทมาโดยการครอบครองยังมิได้จดทะเบียน จะยกสิทธินี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่นายเชื่อมผู้เป็นบุคคลภายนอก ซึ่งได้มีสิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิแล้ว หาได้ไม่ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรค ๒
จึง พิพากษายืน