คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2120/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ใบสำคัญการสมรสใบมรณบัตรสูติบัตรเป็นเอกสารมหาชนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารตามป.วิ.พ.มาตรา127 แม้ส. ซึ่งเป็นคนขับรถโดยสารคันเกิดเหตุของจำเลยที่3จะเป็นเพียงผู้รับจ้างขับรถเป็นรายเที่ยวก็ถือได้ว่าส. เป็นลูกจ้างและขับรถโดยสารคันเกิดเหตุในทางการที่จ้างของจำเลยที่3ๆต้องร่วมรับผิดกับส. ในผลแห่งละเมิดด้วย หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องร่วมรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ห้างหุ้นส่วนฯก่อให้เกิดขึ้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยา โจทก์ที่ 2 เป็นผู้เยาว์และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจารุวัฒน์ จารโยภาส จำเลยที่ 1และที่ 3 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ คืนเกิดเหตุนายจารุวัฒน์ได้โดยสารรถหมายเลขทะเบียน กท.7 ม 4681 ซึ่ง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครอง นายเสมอสายด้วง เป็นผู้ขับขี่ตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4จากกรุงเทพมหานครเพื่อไปยังจังหวัดสกลนครจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการนำเที่ยวรวมถึงการรับขนผู้โดยสารระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดสกลนครโดยใช้ชื่อประกอบกิจการว่า “เอราวัณทัวร์” และยอมให้จำเลยที่ 3 นำรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวเข้าแล่นในนามของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 5 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 6 กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียนขก 17727 คืนเกิดเหตุขณะที่รถที่นายเสมอ และจำเลยที่ 5 ขับแล่นสวนทางกันบนเส้นทางสายอุดรธานี – ขอนแก่น ต่างขับรถโดยความประมาทเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกัน รถโดยสารเอราวัณทัวร์เสียหลักหัวรถปักลงไหล่ถนน ไฟลุกไหม้ทั้งคันคนโดยสารตายรวม 17 คน รวมทั้งนายจารุวัฒน์ด้วย จำเลยทั้ง 6 จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง คือค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดู ค่าทำศพรวม630,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายจารุวัฒน์ โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจารุวัฒน์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว วันเกิดเหตุนายเสมอรับจ้างขับรถเป็นรายเที่ยว จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เหตุรถชนกันเนื่องจากความประมาทของจำเลยที่ 5 โจทก์เรียกค่าอุปการเลี้ยงดู 20 ปี นานเกินควรหากจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดก็ไม่ควรเกิน 20,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 แล้วที่ 6 ให้การว่า เหตุละเมิดมิได้เป็นความผิดของจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ ค่าปลงศพหากโจทก์ต้องจ่ายจริงก็ไม่เกิน 1,000 บาทส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูไม่ควรเกินเดือนละ 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 252,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนัดแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสอง 2,000 บาทให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฯ ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องนั้น โจทก์ที่ 1นำสืบว่าโจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจารุวัฒน์ปรากฎตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของนายจารุวัฒน์อันเกิดจากโจทก์ที่ 1 ปรากฎตามสูติบัตรเอกสารหมาย จ.2เนื่องจากใบสำคัญการสมรสกับสูติบัตรเป็นเอกสารมหาชน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127และปรากฎว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวแต่อย่างใด ศาลย่อมรับฟังเอกสารทั้งสองนั้นเป็นพยานได้ตามเอกสารหมาย จ.1 ระบุชัดว่าโจทก์ที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับนายจารุวัฒน์ ที่อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ฯ และเอกสารหมาย จ.2ระบุว่านายจารุวัฒน์เป็นบิดาโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาโจทก์ที่ 2 ดังนั้นโจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้”
ฯลฯ
ปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถโดยสารคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการไม่จำกัดความรับผิดฯนายเสมอเป็นคนขับรถโดยสารคันเกิดเหตุในขณะเกิดชนกัน แม้นายเสมอรับจ้างขับรถโดยสารคันเกิดเหตุเป็นรายเที่ยว ดังข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ตาม ก้ย่อมถือได้ว่านายเสมอเป็นลูกจ้างและขับรถโดยสารคันเกิดเหตุในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3จึงต้องร่วมรับผิดกับนายเสมอในผลแห่งละเมิดด้วย ส่วนจำเลยที่ 4ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 ซึ่งจะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิด”
ส่วนปัญหาที่ว่า นายจารุวัฒน์ได้โดยสารมาในรถโดยสารคันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฯ ฝ่ายจำเลยที่ 3 และที่ 4 คงมีแต่จำเลยที่ 4 ปากเดียวเบิกความขึ้นลอย ๆว่านายจารุวัฒน์มิได้โดยสารมาในรถโดยสารคันเกิดเหตุ โดยเหตุที่ใบมรณบัตรเป็นเอกสารมหาชน กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีหน้าที่นำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น เมื่อไม่สามารถนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ ศาลก็รับฟังใบมรณบัตรเป็นพยานได้ คดีจึงฟังได้ว่า นายจารุวัฒน์ได้ถึงแก่กรรมในรถโดยสารคันเกิดเหตุชนกันรายนี้จริง”
ฯลฯ
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาให้โจทก์ทั้งสอง 2,000 บาท.

Share