คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7102/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. แม้โจทก์อุทธรณ์เพียงประการเดียวว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน และศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. ก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการกระทำเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะจึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวต่อไปได้ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ , ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามทางไต่สวนของโจทก์ทั้งสองรับฟังได้ว่า จำเลยในฐานะผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในกลุ่มอิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด ถมทะเลเป็นแนวยาวหน้าชายหาดทรายทองซึ่งอยู่หน้าที่ดินโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทั้งเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ หลังจากนั้นปรากฏว่ากระแสน้ำกัดเซาะชายหาดหน้าที่ดินโจทก์ทั้งสอง น้ำไม่ไหลเวียนหน้าที่ดินโจทก์ทั้งสองและน้ำเสียจากน้ำทิ้งของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมาอยู่หน้าที่ดินโจทก์ทั้งสอง สำหรับที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เพียงประการเดียวว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ย่อมไม่มีอำนาจยกปัญหาว่าการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะจึงไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ขึ้นเป็นเหตุยกฟ้องนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เพียงประการเดียวว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน และศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ได้พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาดังอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการกระทำเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะจึงไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ก็ย่อมมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยอีก
พิพากษายืน.

Share