คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2601/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 อ้างคำเบิกความพยานโจทก์และพยานจำเลยว่าโจทก์มีระเบียบในการเปลี่ยนสัญญาค้ำประกันใหม่เมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งสูงขึ้นหรือมีความรับผิดชอบสูงขึ้น เป็นการอ้างเพื่อให้ศาลรับฟังว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมข้อความในสัญญาค้ำประกันนั้นอยู่อีก จึงต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของบริษัทกลการ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 25พฤษภาคม 2525 บริษัทกลการ จำกัด เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการค้าในกลุ่มเดียวกันกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ตกลงกับบริษัทกลการ จำกัด ให้บริษัทกลการ จำกัด มีสิทธิแต่งตั้งโยกย้ายจำเลยที่ 1 ไปทำงานในบริษัทใด ๆ ในกลุ่มบริษัทที่ร่วมกันประกอบกิจการค้านี้ได้รวมทั้งโจทก์ด้วย เมื่อปี 2531 จำเลยที่ 1 ได้โอนย้ายมาเป็นลูกจ้างของโจทก์ตามคำสั่งของบริษัทกลการ จำกัด โดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่อมาปี 2534จำเลยที่ 1 ได้ทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการสาขาแกลง จำเลยที่ 2 ที่ 3ทำสัญญาค้ำประกันรับรองความเสียหายในการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อบริษัทกลการ จำกัด และบริษัทในกลุ่มเดียวกันกับโจทก์ที่บริษัทกลการ จำกัด มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ย้ายไปปฏิบัติงานด้วย ขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการสาขาแกลงจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการประกอบกิจการของโจทก์ สาขาแกลง มีหน้าที่ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กับลูกค้าและส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้า เก็บเงินค่ารถยนต์ที่ขายส่งมอบให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ได้กระทำความเสียหายแก่โจทก์หลายรายการ โดยเมื่อระหว่างเดือนกันยายน 2535 ถึงเดือนมกราคม 2536จำเลยที่ 1 เก็บเงินจากลูกค้ารายนายจำรัส ควรหา เป็นค่ารถยนต์จำนวน 80,000 บาท เก็บเงินจากนายเกื้อกูล ดีประสงค์ เป็นค่ารถยนต์จำนวน 223,922 บาท เก็บเงินจากนายประมาณ พุทธวารินทร์ เป็นค่ารถยนต์จำนวน 215,000 บาท เก็บเงินจากนายไชยวัฒน์ โสตถิยาภัย เป็นค่ารถยนต์จำนวน 316,030 บาท รวมเป็นเงิน 834,952บาท จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งเงินดังกล่าวให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กลับเบียดบังยักยอกไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว และเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2536 จำเลยที่ 1 ทำใบปล่อยรถยนต์โดยขออนุมัตินำรถยนต์เก๋งราคา 604,000 บาท ของโจทก์ออกจากบริษัทชั่วคราวเพื่อนำไปตกแต่งเครื่องเสียง จำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติด้วยตนเอง หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำรถคันดังกล่าวคืนโจทก์ แต่กลับนำไปส่งมอบให้นางสาวระเบียบ รุ่งเรือง ใช้ประโยชน์ ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โจทก์ติดตามยึดรถคันดังกล่าว กลับคืนจากนางสาวระเบียบได้เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2536 รถยนต์มีลักษณะเสื่อมสภาพเนื่องจากการใช้งาน มีสภาพรอยถูกชน รอยบุบ ถูกขูดขีดรอบคัน ช่วงล่างเสียหาย สภาพภายในชำรุดและมีการใช้งานเป็นระยะทางประมาณ 43,000 กิโลเมตร โจทก์ไม่สามารถนำรถคันดังกล่าวออกขายได้ในราคาเดิม จึงขายไปตามสภาพได้ราคา 380,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 224,000 บาท รวมค่าเสียหาย ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น 1,058,952 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสามให้ชำระค่าเสียหายแล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2536 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างจำเลยที่ 1 ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย516,130.30 บาท รวมเป็นเงิน 1,475,082.30 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,575,082.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,058,952 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งพนักงานขายให้แก่บริษัทกลการ จำกัด ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันให้โจทก์เมื่อจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาแกลง จำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ใหม่ในตำแหน่งผู้จัดการสาขาแกลง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดใช้ค่าเสียหาย เมื่อระหว่างเดือนกันยายน 2535 ถึงเดือนมกราคม 2536 จำเลยที่ 1ไม่ได้เก็บเงินของลูกค้าจำนวน 834,952 บาท แล้วนำไปใช้ส่วนตัว เนื่องจากโจทก์มีขั้นตอนการตรวจสอบการเงินและการบัญชีของสาขาแกลงตลอดเวลา จำเลยที่ 1จึงไม่อาจกระทำผิดหรือทำละเมิดตามฟ้องโจทก์ได้ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ออกไปชั่วคราวโดยโจทก์ทราบขั้นตอนดังกล่าวดีแล้วจากการตรวจสอบบัญชีสินค้าของโจทก์ทุกวันทุกสัปดาห์ การนำรถไปให้นางสาวระเบียบเกิดจากการตรวจสอบและเห็นชอบของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กระทำผิดระเบียบหรือผิดหน้าที่ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน1,058,952 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 9 สิงหาคม2542) รวมแล้วต้องไม่เกิน 516,130.30 บาท

จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เพียงใดโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่า แม้สัญญาค้ำประกันจะไม่ได้ระบุว่าค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งใดก็ตาม แต่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.5 ก็ระบุไว้ชัดว่าจำเลยที่ 1 เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขายและเก็บเงิน ทั้งทางนำสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยก็รับฟังข้อเท็จจริงว่า กรณีที่พนักงานเข้าทำงานครั้งแรกแล้วต่อมามีการเปลี่ยนตำแหน่งที่สูงขึ้นหรือมีความรับผิดชอบสูงขึ้น จะต้องมีการเปลี่ยนสัญญาค้ำประกันใหม่เป็นไปตามระเบียบของโจทก์ ตำแหน่งผู้จัดการสาขามีหน้าที่และความรับผิดชอบสูงกว่าพนักงานขายอันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่ได้รับทราบหรือให้ความยินยอมและไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันใหม่ศาลแรงงานกลางแปลความหมายตามสัญญาค้ำประกันว่าไม่มีการจำกัดความรับผิดไว้ในตำแหน่งพนักงานขายเพียงตำแหน่งเดียวและให้จำเลยที่ 2 และที่ 3รับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำในตำแหน่งผู้จัดการสาขาแกลง จึงเป็นการวินิจฉัยขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวน และแปลความหมายของสัญญาผิดไปจากเจตนารมณ์และระเบียบปฏิบัติของโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหน้าที่การงานตำแหน่งผู้จัดการสาขาแกลงของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.6และ จ.7 จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าว และสัญญาค้ำประกันมิได้ระบุตำแหน่งงานใด ๆ ไว้ กรณีจึงต้องพิเคราะห์เพียงข้อความในสัญญาค้ำประกันนั้นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับการทำงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้จัดการสาขาแกลงหรือไม่ เพียงใด ปรากฏว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามเอกสารหมาย จ.5 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างมีข้อความเกี่ยวกับการจ้างจำเลยที่ 1 เข้าทดลองงานเท่านั้น ไม่มีข้อความใดเกี่ยวพันกับสัญญาค้ำประกันที่จะนำมาแปลความหมายในสัญญาค้ำประกันได้ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 2และที่ 3 อ้างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวเพื่อให้นำมาพิจารณาประกอบว่าตกลงค้ำประกันเฉพาะตำแหน่งพนักงานและเก็บเงิน จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างคำเบิกความพยานโจทก์และพยาน จำเลยว่าโจทก์มีระเบียบในการเปลี่ยนสัญญาค้ำประกันใหม่เมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งสูงขึ้นหรือมีความรับผิดชอบสูงขึ้นนั้นล้วนแต่เป็นการอ้างเพื่อให้ศาลรับฟังว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมข้อความในสัญญาค้ำประกันนั้นอยู่อีก ซึ่งต้องห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 กรณีจึงไม่อาจรับฟังดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share