แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ว. และ ห. อยู่กินฉันสามีภริยาที่ประเทศมาเลเซียประมาณ 90 ปีมาแล้ว จึงเป็นสามีภริยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม ห. ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2484 อันเป็นปีที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 แล้ว จึงต้องนำกฎหมายลักษณะผัวเมียมาใช้กับการแบ่งสินสมรส โดยบทที่ 72 กำหนดให้ทรัพย์ที่บิดามารดาหรือญาติฝ่ายหญิงหรือชายให้ไว้ในวันแต่งงานให้เป็นสินเดิมถ้าให้เมื่ออยู่กินเป็นผัวเมียกันแล้วให้เป็นสินสมรส ดังนั้นถ้าได้ทรัพย์มาก่อนปี 2484 ก็ต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยากันตามบทที่ 68 คือ ถ้าชายและหญิงต่างมีสินเดิม ให้คืนสินเดิมแก่แต่ละฝ่าย ส่วนสินสมรสให้แบ่งเป็น 3 ส่วน ชายได้ 2 ส่วนหญิงได้ 1 ส่วน ถ้าต่างฝ่ายไม่มีสินเดิมก็แบ่งสินสมรสแบบเดียวกันแต่ถ้าได้ทรัพย์มาภายหลังจากที่คู่สมรสของตนถึงแก่กรรมไปแล้วทรัพย์ดังกล่าวย่อมไม่ใช่สินสมรสที่จะแบ่งระหว่างสามีภริยาอีกต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทได้มาก่อนปี 2484 จึงเป็นสินสมรสที่ต้องแบ่งระหว่างสามีภริยาตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย โดย ว. ได้ 2 ส่วน ห. ได้ 1 ส่วน หลังจากนั้นส่วนของ ว. จึงตกทอดเป็นมรดกที่ ว. มีสิทธิทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 กับจำเลยร่วมที่ 2 และที่ 3 ได้ ส่วนของ ห. นั้น โจทก์ผู้จัดการมรดกย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. ส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวแก่โจทก์เพื่อจัดแบ่งให้แก่ทายาทของ ห. โดย ว. หามีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์ส่วนที่มิใช่ของตนให้แก่ทายาทตามพินัยกรรมไม่
ทรัพย์อันเป็นสินสมรสที่ยังไม่ได้แบ่งนั้น โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกมีสิทธิติดตามเอาคืนมาเพื่อจัดการแบ่งแก่ทายาทได้แม้เกิน 10 ปีนับแต่ ห. ถึงแก่กรรม คดีหาขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางหลีชิด แซ่ตัน จำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนายวีระหรือตันวีหลิม ตัณฑปุตตะหรือแซ่ตัน และเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของนางหลีชิด เดิมนางหลีชิดเป็นภริยาของนายวีระ มีบุตรด้วยกันรวม 6 คน คือนางตันยกหงอ นางตันยกกลั่น นางตันยกเองนางตันยกเหลียน โจทก์ และนายตันกังไว นายวีระและนางหลีชิดร่วมกันประกอบอาชีพและมีสินสมรส คือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 12 รายการ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 409,732,000 บาท ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2484 นางหลีชิดถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ มีทรัพย์มรดกคือสินสมรสดังกล่าว ซึ่งยังไม่ได้แบ่งแยกเป็นส่วนของนางหลีชิด โดยนายวีระสามีเป็นผู้จัดการและแสวงหาประโยชน์ในทรัพย์มรดกของนางหลีชิดตลอดมา จนกระทั่งปี 2514นายวีระถึงแก่ความตาย ก็ยังไม่มีการแบ่งแยกสินสมรสส่วนของนางหลีชิด ปี 2526 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของนายวีระกับนางหลีซิวเหลียน แซ่หลี เป็นผู้จัดการมรดกของนายวีระ คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสามจึงเข้าครอบครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้ง 12 รายการ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องและแสวงหาประโยชน์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมิได้ดำเนินการแบ่งแยกสินสมรสระหว่างนายวีระกับนางหลีชิดออกจากกันและจัดการแบ่งทรัพย์มรดกของนายวีระแต่อย่างไร ต่อมาวันที่ 14กันยายน 2536 ศาลฎีกามีคำพิพากษาตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางหลีชิด โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวีระจัดการแบ่งทรัพย์มรดกในส่วนของนางหลีชิดกับส่วนแบ่งดอกผลจากสวนยางพาราปีละ 2,500,000บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 11 ปี 3 เดือน พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงินจำนวน 51,855,466 บาท ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 251 หมู่ที่ 3ตำบลเบตง จังหวัดยะลา เนื้อที่ 3 งาน 9 เศษ 7 ส่วน 10 ตารางวาที่ดินสวนยางพาราตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เล่ม 3 หน้า 19 สารบบเล่ม 3 หน้า 2094 หมู่ที่ 5 ตำบลเบตงอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เนื้อที่ 2,095 ไร่ ที่ดินสวนยางพาราตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 3 หน้า 20สารบบเล่ม 3 หน้า เลขที่ 2098 หมู่ที่ 5 ตำบลเบตง อำเภอเบตงจังหวัดยะลา เนื้อที่ 5,500 ไร่ ที่ดินสวนยางพาราตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 3 หน้า 69 สารบบหน้า 2341 หมู่ที่ 5 ตำบลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เนื้อที่2,421 ไร่ ที่ดินสวนยางพาราตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เล่ม 19 หน้า 62 สารบบเล่ม-หน้า 3302/2341 หมู่ที่ 5ตำบลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เนื้อที่ 1,600 ไร่ ที่ดินสวนยางพาราตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 19 หน้า 62สารบบ-หน้า 3303/2341 หมู่ที่ 5 ตำบลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลาเนื้อที่ 1,281 ไร่ ที่ดินสวนยางพาราตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค.1) เลขที่ 2341 หมู่ที่ 5 ตำบลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลาเนื้อที่ 813 ไร่ ที่ดินสวนยางพาราตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค.1) เลขที่ 2340 หมู่ที่ 7 ตำบลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลาเนื้อที่ 219 ไร่ ที่ดินสวนยางพาราตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เล่ม 3 หน้า 69 หมู่ที่ 6 ตำบลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลาเนื้อที่ 94 ไร่ ที่ดินสวนยางพาราตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค.1) เลขที่ 2338 หมู่ที่ 5 ตำบลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลาเนื้อที่ 526 ไร่ 2 งาน 2 ตารางวา ที่ดินสวนยางพาราตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 2339 หมู่ที่ 5 ตำบลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เนื้อที่ 4,532 ไร่ ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้ ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน204,866,050 บาท ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระเงินจำนวน 51,855,466บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 28,124,999 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์อีกเดือนละ 333,333.33 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้ง12 รายการหรือชดใช้ราคาแทน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะนางหลีชิด แซ่ตัน ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2484 และนายวีระตัณฑปุตตะหรือแซ่ตัน ครอบครองทรัพย์ตามฟ้องตลอดมาจนถึงแก่ความตายเมื่อปี 2514 ก่อนที่นายวีระถึงแก่ความตายโจทก์อายุประมาณ 37 ปี บรรลุนิติภาวะแล้วถึง 17 ปี แต่โจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด 1 ปี หรือ 10 ปี นับแต่นางหลีชิดถึงแก่ความตาย นางหลีชิดไม่ใช่ภริยาของนายวีระ ทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องไม่ใช่สินสมรสของนางหลีชิดทรัพย์ดังกล่าวนายวีระได้มาหลังปี 2484 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางลาวัลย์ คงคา ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิศิษฐ์ คงคานายตันเคี่ยมหงวนหรือวสันต์ แซ่ตัน และนายตันกังไว แซ่ตันซึ่งได้รับส่วนแบ่งมรดกของนายวีระ ตัณฑปุตตะ ไปแล้วเข้าเป็นจำเลยร่วม และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางลีซิวเหลียนหรือลีซอเหลียน แซ่หลี ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม เพราะนางลีซิวเหลียนเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวีระมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า นางหลีชิด แซ่ตัน ไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวีระ ตัณฑปุตตะ ทรัพย์ตามฟ้องจึงไม่ใช่สินสมรส แต่เป็นทรัพย์ของนายวีระซึ่งได้มาหลังจากนางหลีชิดถึงแก่ความตายแล้ว นายวีระครอบครองและทำประโยชน์ในทรัพย์ดังกล่าวในฐานะเป็นเจ้าของ ไม่ได้ครอบครองร่วมกับทายาทของนางหลีชิด โจทก์ฟ้องคดีหลังจากนางหลีชิดถึงแก่ความตายแล้วประมาณ 56 ปี จึงขาดอายุความ อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องภายใน1 ปี นับแต่โจทก์บรรลุนิติภาวะและรู้ถึงความตายของนางหลีชิดขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมที่ 4 ไม่ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกา 3267/2536 ซึ่งฟังว่า นางหลีชิด แซ่ตันกับนายวีระ ตัณฑปุตตะ เป็นมารดาและบิดาโจทก์ นางหลีชิดถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ส่วนนายวีระได้ถึงแก่ความตายโดยทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินตามที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยร่วมที่ 2 และที่ 3 ตามเอกสารหมายล.1 โดยโจทก์มิได้รับส่วนแบ่งจากพินัยกรรมดังกล่าวแต่อย่างใดคดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางหลีชิดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3267/2536 มีสิทธิเรียกร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวีระ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองทรัพย์สินส่วนของนางหลีชิดให้โจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ประกอบกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3267/2536 นั้นรับฟังได้มั่นคงว่า นายวีระและนางหลีชิดอยู่กินฉันสามีภริยาที่ประเทศมาเลเซียประมาณ 90 ปีมาแล้ว จึงเป็นสามีภริยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม ต่อมานางหลีชิดถึงแก่ความตายเมื่อปี 2484 อันเป็นปีที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว เหตุนี้จึงต้องนำกฎหมายลักษณะผัวเมียมาใช้บังคับกับการแบ่งสินสมรส ซึ่งกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 72 ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างผัวเมียบัญญัติว่า “ทรัพย์ที่บิดามารดาหรือญาติฝ่ายหญิงหรือชายให้ในวันมีแขก (วันแต่งงาน)ให้เป็นสินเดิม ถ้าให้เมื่ออยู่กินเป็นผัวเมียกันแล้วให้เป็นสินสมรส”จึงต้องวินิจฉัยก่อนเป็นลำดับแรกว่า ที่ดินที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยทั้งสามนั้นเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างเป็นสามีภริยาก่อนปี 2484 อันเป็นวันที่นางหลีชิดถึงแก่ความตายหรือไม่ถ้าได้มาก่อนปี 2484 ก็ต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 กล่าวคือ ถ้าชายและหญิงต่างมีสินเดิมให้คืนสินเดิมแก่แต่ละฝ่าย ส่วนสินสมรสให้แบ่งเป็น 3 ส่วน ชายได้ 2 ส่วน หญิงได้ 1 ส่วน ถ้าต่างฝ่ายไม่มีสินเดิมก็แบ่งสินสมรสแบบเดียวกัน หากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังจากนางหลีชิดถึงแก่ความตาย อันเป็นเหตุทำให้การสมรสสิ้นสุดแล้ว ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมมิใช่สินสมรสที่จะแบ่งระหว่างสามีภริยาอีกต่อไป ข้อนี้โจทก์มีนายอุทัย สุภัทรประทีป หัวหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดยะลา สาขาเบตงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้เป็นญาติของคู่ความฝ่ายใด จึงถือว่าเป็นพยานคนกลาง เบิกความประกอบเอกสารหลักฐานเชื่อได้ว่าเฉพาะที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2095เอกสารหมาย จ.2 กับที่ดินตามโฉนดเลขที่ 251 เอกสารหมายจ.3 ได้ซื้อมาตั้งแต่ปี 2479 สำหรับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 2098 เอกสารหมาย จ.4 ได้ซื้อมาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2482 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 2341, 3302/2341 และ 3303/2341 เอกสารหมายจ.5 ได้มาโดยเข้าครอบครองเมื่อปี 2476 ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เอกสารหมาย จ.6 ได้มาตั้งแต่ปี 2483ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เอกสารหมาย จ.8ได้มาตั้งแต่ปี 2478 และที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค.1) เอกสารหมาย จ.9 ได้มาโดยอ้างว่าเข้าครอบครองเมื่อปี 2476 ส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมายจ.1 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย จ.7 นั้นน่าเชื่อว่านายวีระได้มาภายหลังจากนางหลีชิดถึงแก่ความตายเหตุนี้จึงฟังได้ว่าที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2, จ.3, จ.4, จ.5, จ.6,จ.8 และ จ.9 เป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนปี 2484 อันเป็นสินสมรสที่ต้องแบ่งระหว่างสามีภริยาตามกฎหมายลักษณะผัวเมียโดยนายวีระได้ 2 ส่วน นางหลีชิดได้ 1 ส่วน หลังจากนั้นส่วนของนายวีระจึงตกทอดเป็นมรดกที่นายวีระมีสิทธิทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยร่วมที่ 2 และที่ 3 ได้ ส่วนของนางหลีชิดนั้นโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวีระ ส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวแก่โจทก์เพื่อจัดการแบ่งให้ทายาททั้งปวงของนางหลีชิดอันได้แก่นายวีระซึ่งเป็นสามีและบุตรทั้งหกคนละส่วนเท่า ๆ กัน ทั้งนี้นายวีระหามีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์ส่วนที่มิใช่ของตนให้แก่ทายาทตามพินัยกรรมไม่ สำหรับปัญหาที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้นเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าทรัพย์สินตามเอกสารหมาย จ.2, จ.3, จ.4, จ.5,จ.6, จ.8 และ จ.9 เป็นสินสมรสที่ยังมิได้แบ่ง เหตุนี้นายวีระและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทนายวีระจึงเข้าครอบครองทรัพย์มรดกในส่วนของนางหลีชิดที่ยังไม่ได้แบ่งปันกันแทนทายาทอื่นของนางหลีชิดตลอดมา โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินดังกล่าวคืนมาเพื่อจัดการแบ่งแก่ทายาทได้แม้เกิน 10 ปี นับแต่นางหลีชิดถึงแก่ความตายก็ตาม คดีหาขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 ไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าทรัพย์สินที่โจทก์ฟ้องมามิใช่ทรัพย์มรดกทั้งสิ้นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวีระหรือตันวีหลิม ตัณฑปุตตะหรือแซ่ตันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดที่ดินเลขที่ 251 กับจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 2095, 2098, 2341,3302/2341 และ 3303/2341 ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 2338, 2339 และ 2340 แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางหลีชิด แซ่ตัน เพื่อแบ่งให้แก่ทายาทของนางหลีชิด แซ่ตัน จำนวนหนึ่งในสาม หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ ให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินแต่ละแปลงจำนวนหนึ่งในสามของราคากลางสำหรับการซื้อขายที่ดินซึ่งกำหนดไว้ในปัจจุบันนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9