คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3659-3661/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติมาตรการทางกฎหมายไว้ 2 ส่วน ได้แก่ มาตรการทางอาญาฐานฟอกเงิน และมาตรการทางแพ่งที่ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยมาตรการส่วนหลังเป็นกระบวนการยึดทรัพย์สินทางแพ่ง (Civil forfeiture) ซึ่งพิจารณาตัวทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินว่ามีแหล่งที่มาจากการกระทำผิดอาญาที่เป็นความผิดมูลฐานของพระราชบัญญัติฉบับนี้หรือไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาความผิดของบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์ ซึ่งจะต้องพิสูจน์ตามหลักการพิสูจน์พยานหลักฐานในคดีอาญา มาตรการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินจึงมิใช่โทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 18 (5)
แม้ความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (15) จะบัญญัติเพิ่มเติมภายหลังจากที่ได้กระทำความผิด ก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล และเมื่อมีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับย้อนหลังไปทันที นับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้น

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกผู้ร้องทั้งสามสำนวนว่า ผู้ร้อง ให้เรียกผู้คัดค้านทั้งสามสำนวน รวม 8 ราย ดังนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 นายกัมปนาท ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 นางสาวดาวเรือง ว่า ผู้คัดค้านที่ 3 นางสาวเกษศิรินทร์ ว่า ผู้คัดค้านที่ 4 นางสาวภิรมยา ว่า ผู้คัดค้านที่ 5 นายพงษ์พัฒน์ ว่า ผู้คัดค้านที่ 6 นางเกศกมล ว่า ผู้คัดค้านที่ 7 และพันตำรวจโทพิชิต ว่า ผู้คัดค้านที่ 8
ผู้ร้องยื่นคำร้องทั้งสามสำนวนขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 155 รายการ พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 7 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 7
ผู้คัดค้านที่ 8 ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งกันส่วนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 8 กึ่งหนึ่ง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 155 รายการ พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง สำหรับทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์รายการที่ 71 ถึง 76 และทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ รายการที่ 2 ให้นำออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง และนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปชำระหนี้จำนองพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยื่นฎีกาพร้อมคำร้องขออนุญาตฎีกาด้วย เมื่อคดีนี้ได้ยื่นคำร้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 ใช้บังคับ จึงไม่ต้องขออนุญาตฎีกาให้ยกคำร้องขออนุญาตฎีกาและมีคำสั่งรับฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ส่วนผู้ร้องยื่นคำแก้ฎีกาแล้ว
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2557 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านที่ 2 ได้ในท้องที่สถานีตำรวจภูธรโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมเงิน 4,700,000 บาท จากการสอบสวนผู้คัดค้านที่ 2 ให้การว่า เงินดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 2 นำติดตัวมาเพื่อซื้อไม้พะยูงจากนายถาวร แต่ไปดูไม้แล้วปรากฏว่าเป็นไม้ชิงชันจึงไม่ซื้อ ขณะเดินทางกลับพบเจ้าพนักงานตำรวจตั้งจุดตรวจค้นและตรวจพบเงินดังกล่าว ก่อนหน้านี้เคยมีคำพิพากษาว่าผู้คัดค้านที่ 2 กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ 2 คดี จากการสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจเชื่อว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 กับพวกเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าวจึงรายงานให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทราบ คณะกรรมการธุรกรรมตรวจสอบแล้วเชื่อว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 กับพวกเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมีมติให้ยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 7 ไว้ชั่วคราว และจากการตรวจสอบพยานหลักฐานพบว่านางแตงฮัว มารดาของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เคยกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเมื่อปี 2546 ผู้คัดค้านที่ 3 ถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 รวม 3 คดี ผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 เคยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 แม้ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 จะมิได้ถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งหมดเป็นเครือญาติกับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 7 และนางแตงฮัว นอกจากนี้ยังพบว่ามีกลุ่มบุคคลสัญชาติลาวโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 จำนวนหลายครั้งรวมเป็นเงินประมาณพันล้านบาท ผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 จึงเป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน เชื่อว่าทรัพย์สินที่มีชื่อของผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 กับพวกตกเป็นของแผ่นดิน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ประการแรกว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ไม่ใช่มาตรการทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 (5) จึงไม่อาจใช้บังคับย้อนหลังได้ เมื่อความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ตามที่บัญญัติเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2556 บทบัญญัติมาตรา 3 (15) จึงไม่อาจใช้บังคับแก่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติมาตรการทางกฎหมาย 2 ส่วน ได้แก่ มาตรการทางอาญาฐานฟอกเงิน และมาตรการทางแพ่งที่ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยมาตรการส่วนหลังเป็นกระบวนการยึดทรัพย์สินทางแพ่ง (Civil forfeiture) ซึ่งพิจารณาตัวทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินว่ามีแหล่งที่มาของทรัพย์สินจากการกระทำผิดอาญาที่เป็นความผิดมูลฐานของพระราชบัญญัติฉบับนี้หรือไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาความผิดของบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์ซึ่งเป็นเรื่องทางอาญาที่ต้องพิสูจน์ความผิดตามหลักการพิสูจน์พยานหลักฐานในคดีอาญา ดังจะเห็นได้จากมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติให้การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินให้ยื่นต่อศาลแพ่ง และให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้โดยอนุโลม เจตนารมณ์ของการขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินนั้น คือ การที่กฎหมายไม่อาจยอมรับให้บุคคลอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินที่ได้มาโดยกระทำผิด จึงไม่จำต้องนำหลักกฎหมายอาญาหรือวิธีพิจารณาความอาญาที่ต้องพิสูจน์ความผิดของจำเลยจนปราศจากข้อสงสัยตามสมควรมาวินิจฉัย ดังนั้น มาตรการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมิใช่โทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 (5) แม้ความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (15) จะบัญญัติเพิ่มเติมภายหลังที่จำเลยต้องหาว่ากระทำความผิด ก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล และเมื่อมีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานดังกล่าวแล้วก็มีผลบังคับย้อนหลังไปทันทีนับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share