คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1985/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองเข้าไปในตึกแถวของผู้เสียหาย ได้เข้าไปในห้องของ อ. บุตรผู้เสียหาย มัด อ. แล้วถามหาเซฟอันเป็นที่เก็บทรัพย์ ว่าที่ชั้นบนมีเซฟอยู่หรือเปล่า อยู่ตรงไหน แล้วจำเลยก็ออกจากห้องของ อ. ขึ้นไปบนชั้นที่ 2 พอพบผู้เสียหายก็ยิงผู้เสียหายทันทีโดยไม่มีสาเหตุที่จะมาทำร้ายผู้เสียหายมาก่อน แล้วจำเลยก็วิ่งขึ้นไปบนชั้นที่สาม แสดงว่าขึ้นไปเพื่อหาเซฟ การที่จำเลยมัด อ. อันเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย กับการที่จำเลยยิง พยายามฆ่าผู้เสียหายนี้ จำเลยกระทำไปเพื่อวัตถุประสงค์อันเดียวกัน คือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 80 บทหนึ่ง กับมาตรา 289(6), 80 อีกบทหนึ่ง หาใช่ความผิดสองกระทงไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ปืนยิงนางเหลาเฮี๊ยะโดยเจตนาฆ่า และเพื่อชิงทรัพย์ แต่นางเหลาเฮี๊ยะไม่ถึงแก่ความตาย และชิงทรัพย์ไม่สำเร็จ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙, ๒๘๘. ๓๓๙. ๘๐ ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ จำคุกจำเลยคนละ ๑๕ ปี ข้อหาอื่นให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙(๖), ๓๓๙ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๙ (๖) ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุด ประกอบด้วย มาตรา ๘๐ จำคุกคนละ ๒๐ ปี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองเข้าไปในตึกแถวของนางเหลาเฮี๊ยะผู้เสียหายเข้าไปในห้องนายอารักษ์บุตรผู้เสียหาย ใช้เชือกมัดนายอารักษ์ไว้แล้วถามหาเซฟอันเป็นที่เก็บทรัพย์ ว่าที่ชั้นบนมีเซฟอยู่หรือเปล่า เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ เมื่อจำเลยออกจากห้องขึ้นไปบนชั้นที่สองพบนางเหลาเฮี๊ยะ จำเลยก็ใช้อาวุธปืนยิงนางเหลาเฮี๊ยะทันที โดยไม่มีสาเหตุว่าจำเลยมุ่งจะทำร้ายนางเหลาเฮี๊ยะมาก่อน แล้วจำเลยทั้งสองวิ่งขึ้นไปชั้นที่สาม เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยขึ้นไปเพื่อหาเซฟ การที่จำเลยมัดนายอารักษ์อันเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายกับการที่จำเลยยิงพยายามฆ่านางเหลาเฮี๊ยะนี้ จำเลยกระทำไปเพื่อวัตถุประสงค์อันเดียวกัน คือ เพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ บทหนึ่ง กับ มาตรา ๒๘๙(๖) ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ อีกบทหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิด ๒ กระทงนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้ เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙(๖) ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ และมาตรา ๓๓๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๘๙(๖) ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดบทเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาอุทธรณ์

Share