คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1824/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510 มาตรา 7 วรรคแรกจะเห็นได้ว่าสมาคมใด ๆ จะประกอบธุรกิจประกันชีวิตไม่ได้เลยและตามมาตรา 72 แสดงว่ากฎหมายอนุญาตให้ชักชวนแนะนำให้ผู้อื่นทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตแล้วได้ แต่จะชักชวนแนะนำให้ไปทำสัญญาประกันชีวิตกับบุคคลใดซึ่งรวมถึงสมาคมด้วยไม่ได้ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชักชวนแนะนำให้บุคคลอื่นทำสัญญาประกันชีวิตกับสมาคมส่งเสริมกสิกรแม้จะมิได้บรรยายว่า สมาคมดังกล่าวไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต แต่กลับไปกล่าวว่าจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมาย ดังนี้ ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 20/2516)

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๑๐ ถึงวันที่๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๓ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้ชักชวนแนะนำนางคำตา เม็ดสุวรรณ นางจันทรา จำปาทอง และนางดวงดี จันทราศิริและบุคคลอื่น ๆ ซึ่งเป็นราษฎรตำบลโพธิ์ตาก อำเภอศรีเชียงใหม่จังหวัดหนองคาย เพื่อให้บุคคลดังกล่าวทำสัญญาประกันชีวิตกับสมาคมส่งเสริมกสิกร ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีสำนักงานตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๑๗๔/๖-๗ ถนนผดุงพานิช อำเภอเมืองฯ จังหวัดร้อยเอ็ดโดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๗๒, ๙๕
สืบพยานโจทก์ไปจวนหมดแล้ว จำเลยกลับให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๗๒, ๙๕ จำคุก ๖ เดือน ปรานีลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ให้หนึ่งในสาม แล้วคงจำคุก ๔ เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษหรือปรับสถานเดียว
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตที่จำเลยชักชวนหรือแนะนำผู้เสียหายเพื่อให้ทำสัญญาประกันชีวิตนั้น ต้องเป็นผู้ที่มิได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตหาใช่เป็นความผิดเพราะจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องไม่ จึงถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดไม่ได้ แม้จำเลยรับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้ พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ในปัญหาว่า ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำของจำเลยที่อ้างว่าได้กระทำผิด มาครบถ้วนและจะลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องได้หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๑๐มาตรา ๗ วรรคแรกบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๘ การประกอบธุรกิจประกันชีวิตจะกระทำได้ต่อเมื่อได้จัดตั้งขึ้นในรูปบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และโดยได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี”เห็นได้ชัดว่า สมาคมใด ๆ จะประกอบธุรกิจประกันชีวิตไม่ได้เลยเพราะกฎหมายจำกัดให้ตั้งเป็นบริษัทจำกัดเท่านั้น จึงจะขออนุญาตต่อรัฐมนตรีได้เมื่อสมาคมไปประกอบธุรกิจประกันชีวิตเข้า ก็เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายอยู่ในตัว เพราะไม่มีช่องทางใดจะขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตได้ เหตุที่โจทก์ไม่จำต้องบรรยายในฟ้องว่า สมาคมไม่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตแต่ประการใด ส่วนความในมาตรา ๗๒ วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดชักชวนแนะนำ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตในต่างประเทศหรือกับบุคคลใด ๆ นอกจากผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้”เห็นว่า กรณีความผิดตามมาตรานี้เป็นเรื่องที่กฎหมายอนุญาตให้ชักชวนแนะนำให้ผู้อื่นทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตแล้วได้ ตรงกันข้ามจะให้ไปทำสัญญาประกันชีวิตกับบุคคลใด ๆ ซึ่งรวมถึงสมาคมด้วยไม่ได้ จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยจะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตหรือไม่ เพราะจำเลยจะขอใบอนุญาตเช่นนั้นไม่ได้ คำบรรยายฟ้องที่ว่า “โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมาย” จึงเป็นข้อความที่โจทก์ไม่จำต้องกล่าวถึงและเมื่อกล่าวเอาไว้ ก็เป็นเพียงข้อความที่เกินเลยไปเท่านั้นซึ่งศาลอุทธรณ์ก็เข้าใจดีแล้วว่ามิใช่สารสำคัญแห่งความผิดของจำเลยฉะนั้น ฟ้องโจทก์ซึ่งได้ระบุการกระทำอันเป็นความผิดของจำเลยไว้ว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนต่อมาตรา ๗๒ ดังกล่าว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าฟ้องในกรณีนี้จัดเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ แล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ก็ต้องมีความผิดตามฟ้อง ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์เสียนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พร้อมกันพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๗๒, ๙๕ แต่ปรากฏว่าจำเลยมีอายุ ๕๗ ปีไม่ได้ความว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เท่าที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกแก่จำเลยออกจะแรงไป สมควรวางโทษแก่จำเลยพอให้สำนึกต่อความผิดก็เพียงพอแล้ว จึงให้ปรับจำเลยเป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาทปรานีลดโทษให้เพราะคำรับสารภาพของจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงให้ปรับเป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท(สองพันบาท) ไม่เสียค่าปรับ จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙, ๓๐ ถ้ากักขังแทนค่าปรับ คงให้กักขังมีกำหนด ๑ ปี

Share