คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2205/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์อุทธรณ์ในปัญหานี้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ดังนี้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้กระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้ ถึงแม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
การดำเนินการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด… พ.ศ.2530 อยู่ในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 เรื่องปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ข้อ 19 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 อีกหลายฉบับ ต่อมามีการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 โดย พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2534และบัญญัติอำนาจหน้าที่นี้ของจำเลยที่ 2 ไว้ในมาตรา 19 จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบการปฏิบัติงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย รวมตลอดถึงการเวนคืนที่ดินและการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ที่ถูกเวนคืน อันอยู่ภายในกรอบอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ผู้ถูกเวนคืนโต้แย้งว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนเวนคืนที่ดินของโจทก์ไม่ถูกต้องเป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้
พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าในวันที่ใช้บังคับพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน…พ.ศ. 2530 มีราคาตารางวาเท่าใด ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรพิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่จะต้องถูกเวนคืนตามเหตุผลที่ควรจะเป็น โดยพิจารณากำหนดค่าทดแทนจากหลักเกณฑ์ทั้ง 5 ประการ ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21
ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ในราคาที่สูงเกินไปกว่าราคาที่โจทก์กล่าวในอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา26 วรรคสาม มาตรา 10 วรรคสอง และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง
เมื่อโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2532 นับแต่วันดังกล่าวไปอีก 120 วัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งเก้าคือวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2533 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามความในมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์ทั้งเก้าจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับในอัตราเท่าใดนั้น ต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราและไม่เกินจำนวนเงินตามคำขอของโจทก์

Share