คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3591/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยผู้สู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดชั้นเดิมละเลยไม่ใช้ราคาซื้อทรัพย์ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่จำเลยทำไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จนเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายทอดตลาดอีกซ้ำหนึ่ง และได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิมนั้น จำเลยผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 และการกระทำของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะได้รับชำระหนี้ในจำนวนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
การที่จำเลยเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งแรกและต้องรับผิดในส่วนราคาที่ขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ดังกล่าว จำเลยจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง และมาตรา 309 ทวิ ในอันที่จะโต้แย้งคัดค้านการขายทอดตลาดครั้งใหม่ได้หากดำเนินการไปโดยไม่ชอบ เมื่อจำเลยไม่มาดูแลการขายโดยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดครั้งใหม่อ้างว่าการขายทอดตลาดครั้งใหม่นี้ดำเนินการไปโดยไม่ชอบด้วยเหตุผลใด และไม่ได้คัดค้านว่าการที่โจทก์ซื้อทรัพย์รายพิพาทจากการขายทอดตลาดครั้งใหม่ในราคา 4,440,000 บาท เกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ดุลพินิจแล้วเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้และเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะเคาะไม้ขายให้แก่โจทก์ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดครั้งใหม่นี้ การขายทอดตลาดครั้งใหม่จึงเป็นการดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยต้องรับผิดในส่วนต่างที่ขาดจำนวน 8,760,000 บาท ซึ่งการที่จำเลยต้องรับผิดในส่วนต่างที่มีจำนวนมากเพียงนั้นก็เกิดจากจำเลยเองด้วยที่เสนอราคาสูงสุดในครั้งก่อนสูงถึง 13,200,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ราคาประเมินทรัพย์รายพิพาทของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีเพียง 8,870,000 บาท โจทก์ใช้สิทธิฟ้องให้จำเลยรับผิดในส่วนต่างคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 11,996,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 8,760,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ธ.12594/2542 ของศาลชั้นต้นและเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 127970 และ 127978 ตำบลสะพานสูง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ของนายอยุทธ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ในคดีดังกล่าว โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินอันเป็นทรัพย์จำนองทั้งสองแปลงออกขายทอดตลาด ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง โดยจำเลยเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 13,200,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่จำเลย จำเลยทำสัญญาซื้อขายกับเจ้าพนักงานบังคับคดีและขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าซื้อทรัพย์ออกไปเป็นเวลา 3 เดือน แต่เมื่อครบกำหนด จำเลยไม่ชำระค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือ เจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดอีกครั้งในวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 โจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้ในราคา 4,440,000 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำกว่าราคาที่จำเลยเคยเสนอไว้เป็นจำนวน 8,760,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดชำระเงินส่วนต่างที่ขาดอยู่ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 บัญญัติว่า “ถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาไซร้ ท่านให้ผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ถ้าและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ผู้สู้ราคาเดิมคนนั้นต้องรับผิดในส่วนที่ขาด” สำหรับกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาด พ.ศ.2554 ที่จำเลยกล่าวอ้างถึงนั้น ในขณะที่มีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีนี้ทั้งสองครั้ง กฎกระทรวงฉบับนี้ยังมิได้ใช้บังคับ กรณีจึงไม่อาจนำกฎกระทรวงมาพิจารณาได้ ซึ่งการที่จำเลยผู้สู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดชั้นเดิมละเลยไม่ใช้ราคาซื้อทรัพย์ตามหนังสือสัญญาซื้อขาย ที่จำเลยทำให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จนเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายทอดตลาดอีกซ้ำหนึ่งและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิมนั้น จำเลยผู้สู้ราคาเดิมจะต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 และการกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะได้รับชำระหนี้ในจำนวนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดครั้งใหม่ในราคาเพียง 4,440,000 บาท ทั้งที่ทรัพย์มีราคาประเมิน 8,870,000 บาท เป็นการใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า การที่จำเลยเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งแรกและต้องรับผิดในส่วนราคาที่ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 จำเลยจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง และมาตรา 309 ทวิ ในอันที่จะโต้แย้งคัดค้านการขายทอดตลาดครั้งใหม่ได้หากดำเนินการไปโดยไม่ชอบ แม้จำเลยเบิกความว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงวันนัดขายทอดตลาดครั้งใหม่ในอันที่จำเลยจะใช้สิทธิคัดค้านราคาขายที่ต่ำเกินสมควร แต่ประเด็นปัญหานี้จำเลยมิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นเรื่องนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยทราบวันนัดขายทอดตลาดครั้งใหม่แล้ว แต่จำเลยไม่มาดูแลการขายตามที่ปรากฏในสำเนารายงานการขายทอดตลาดครั้งใหม่ ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มาดูแลการขายโดยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดครั้งใหม่อ้างว่า การขายทอดตลาดครั้งใหม่นี้ดำเนินการไปโดยไม่ชอบด้วยเหตุผลใด และไม่ได้คัดค้านว่าการที่โจทก์ซื้อทรัพย์รายพิพาทจากการขายทอดตลาดครั้งใหม่ในราคา 4,440,000 บาท เกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ดุลพินิจแล้วเห็นว่า เป็นราคาที่สมควรขายได้และเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะเคาะไม้ขายให้แก่โจทก์ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดครั้งใหม่นี้ การขายทอดตลาดครั้งใหม่จึงเป็นการดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และตามหนังสือสัญญาซื้อขาย ข้อ 2.3 กำหนดว่า หากจำเลยไม่นำเงินที่เหลือมาชำระให้เสร็จภายในกำหนด จะยอมให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำที่วางไว้ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไปได้ราคาสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด จำเลยยินยอมชดใช้เต็มจำนวนที่จำเลยประมูลไว้ในครั้งก่อนและยอมเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สำหรับการขายทอดตลาดครั้งหลังนี้ด้วย ซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อยอมรับข้อสัญญาไว้ท้ายหนังสือสัญญาซื้อขาย แสดงว่าจำเลยทราบว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระราคาส่วนต่างตามสัญญาและตามกฎหมายแล้ว ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดอีกครั้งในวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 โจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้ในราคา 4,440,000 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำกว่าราคาที่จำเลยเคยเสนอไว้เป็นจำนวน 8,760,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดในส่วนต่างที่ขาดจำนวน 8,760,000 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 ทั้งการที่จำเลยต้องรับผิดในส่วนต่างที่มีจำนวนมากเพียงนั้นก็เกิดจากจำเลยเสนอราคาสูงสุดในครั้งก่อนสูงถึง 13,200,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ราคาประเมินทรัพย์รายพิพาทของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีราคาเพียง 8,870,000 บาท การที่จำเลยต้องรับผิดในส่วนต่างที่มีจำนวนมากจึงเกิดจากจำเลยเองด้วย โจทก์ใช้สิทธิฟ้องให้จำเลยรับผิดในส่วนต่างเป็นคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตแล้ว เมื่อเป็นหนี้เงินโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง โดยกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 9 มกราคม 2552 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดวางเงินส่วนที่เหลือในการขายทอดตลาดชั้นเดิมเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดชำระเงินส่วนต่างให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 8,760,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 ธันวาคม 2556) ให้ไม่เกิน 3,236,400 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share