คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 26/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบกำหนดแล้ว เพียงแต่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดขยายระยะเวลาการฟื้นฟูออกไปอีก 180 วัน เมื่อผลประเมินไม่เป็นที่พอใจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จึงมีหน้าที่รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณาคดีต่อไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 33 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 57, 91 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยโดยกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ต่อมาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ส่งตัวจำเลยไปเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด โดยคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดลำพูน ได้วินิจฉัยว่า ให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูแบบไม่ควบคุมตัวในโปรแกรมกาย-จิต-สังคม บำบัด ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเป็นเวลา 4 เดือน นับตั้งแต่วันที่เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกันนับตั้งแต่วันที่เข้ารับการฟื้นฟู จากนั้นให้เข้ารับการฟื้นฟูในโปรแกรมของสำนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 2 เดือน ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด และยินยอมให้เก็บปัสสาวะส่งตรวจและให้ทำงานบริการสังคมจำนวน 20 ชั่วโมง ต่อมาคณะอนุกรรมการมีคำสั่งที่ 731/2555 ให้ขยายระยะเวลาการฟื้นฟูออกไปอีก 180 วัน โดยปรับแผนการฟื้นฟูเป็นแบบไม่ควบคุมตัวในโปรแกรมของสำนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 6 เดือน รายงานตัวทุก 15 วัน และทำงานบริการสังคมจำนวน 12 ชั่วโมง บัดนี้ ครบ 180 วัน ที่ขยายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ปรากฏว่าระดับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอยู่ในระดับต้องปรับปรุง ผลการประเมินพฤติกรรมไม่ผ่าน เนื่องจากค้างรายงานตัว 11 ครั้ง และค้างการทำงานบริการสังคมจำนวน 12 ชั่วโมง ยังคงเกี่ยวข้องกับสารเสพติด ติดตามแล้วไม่สามารถติดตามได้ คณะอนุกรรมการมีความเห็นว่า การฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงเห็นควรส่งตัวคืนพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรป่าซาง ตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดลำพูน ที่ 2128/2555 เอกสารท้ายฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คดีนี้ครบกำหนดการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลา 6 เดือน แล้วผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่น่าพอใจ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงให้ขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดออกไปอีก 180 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดใช้ดุลยพินิจไม่ขยายเวลาฟื้นฟูออกไปอีก จึงเป็นกรณีที่การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในรายของจำเลยได้ครบกำหนดระยะเวลาแล้ว เมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำวินิจฉัยตามเอกสารท้ายฟ้องว่า ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่พอใจ จึงต้องยุติตามนั้น ถือว่าจำเลยได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดระยะเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจแจ้งให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการดำเนินคดีต่อไปตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 33 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า จากข้อเท็จจริงข้างต้นแสดงว่าจำเลยได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง แล้วและจำเลยได้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาหกเดือน ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ครบกำหนดแล้ว เพียงแต่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดลำพูน ให้ขยายระยะเวลาการฟื้นฟูออกไปอีก 180 วัน โดยปรับแผนการฟื้นฟูเป็นแบบไม่ควบคุมตัวในโปรแกรมของสำนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 6 เดือน รายงานตัวทุก 15 วัน และทำงานบริการสังคมจำนวน 12 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อครบ 180 วัน ที่ขยาย ปรากฏว่าระดับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอยู่ในระดับต้องปรับปรุง ผลการประเมินพฤติกรรมไม่ผ่านเนื่องจากค้างรายงานตัว 11 ครั้ง และค้างการทำงานบริการสังคมจำนวน 12 ชั่วโมง ยังคงเกี่ยวข้องกับสารเสพติด ติดตามแล้วไม่สามารถติดตามได้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดลำพูนจึงมีความเห็นให้ส่งจำเลยคืนพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูยังไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามนัยมาตรา 25 จึงคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและตามพฤติการณ์แห่งคดี ข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดลำพูนจึงมีหน้าที่รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 33 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เพื่อมิให้คดีนี้ต้องล่าช้าเกินสมควร หากศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ จึงเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาไปเลยในประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกต่อไป เห็นว่า แม้จำเลยได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายเป็นเวลา 6 เดือน จนผ่านการประเมินในทุกขั้นตอนขณะที่เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ แต่เมื่อมีการขยายระยะเวลาการฟื้นฟูออกไปอีก ปรากฏว่าจำเลยยังคงเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยย่อมไม่อาจทำให้จำเลยเลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยเมื่อลดโทษแล้ว มีกำหนด 3 เดือน โดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย จึงเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share