คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5217/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ นั้นเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาจะอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงต้องถือเจตนารมณ์ของผู้อนุญาตและความยุติธรรมที่คู่ความพึงจะได้รับเป็นสำคัญยิ่งกว่าถ้อยคำแต่ละคำในตัวบท มิฉะนั้นแล้วผลจะกลายเป็นว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นเห็นควรนำปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งเป็นปัญหาสำคัญสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ตามที่คู่ความร้องขอ แต่ใช้ข้อความคลาดเคลื่อนไปจากตัวบท กลับเป็นผลร้ายแก่คู่ความซึ่งประสงค์จะให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นปัญหาสำคัญอีกครั้งหนึ่ง คดีนี้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องของโจทก์ที่ขออนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า กรณีมีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อนุญาตให้อุทธรณ์ได้ แม้ไม่ปรากฏว่ามีข้อใดที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่ข้อความดังกล่าวก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ จึงอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ได้ กรณีย่อมถือได้ว่ามีการอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แล้ว โจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 86, 90, 91, 341, 352, 353
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ให้ประทับฟ้อง ส่วนข้อหาอื่นและจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์และยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องว่า กรณีมีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ อนุญาตให้อุทธรณ์ และมีคำสั่งในอุทธรณ์ให้รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ที่ขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า กรณีมีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ อนุญาตให้อุทธรณ์ได้ ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาจะอนุญาตให้อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงต้องถือเจตนารมณ์ของผู้อนุญาตและความยุติธรรมที่คู่ความพึงจะได้รับเป็นสำคัญยิ่งกว่าถ้อยคำแต่ละคำในตัวบท มิฉะนั้นแล้วผลจะกลายเป็นว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นเห็นควรนำปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งเป็นปัญหาสำคัญสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ตามที่คู่ความร้องขอ แต่ใช้ข้อความคลาดเคลื่อนไปจากตัวบท กลับเป็นผลร้ายแก่คู่ความซึ่งประสงค์จะให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นปัญหาสำคัญอีกครั้งหนึ่ง คดีนี้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องของโจทก์ที่ขออนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า กรณีมีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ อนุญาตให้อุทธรณ์ได้ แม้ไม่ปรากฏว่ามีข้อใดที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่ข้อความดังกล่าวก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ จึงอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ได้ กรณีย่อมถือได้ว่ามีการอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แล้ว โจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share