คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 88/5 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินตามบทบัญญัติในส่วน 2 ของหมวด 2 ลักษณะ 2 แห่ง ป.รัษฎากรฯ คืออุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 30 (1) เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้วมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 30 (2) เว้นแต่จะเป็นกรณีต้องห้ามอุทธรณ์ การที่กฎหมายให้อุทธรณ์ต่อศาลเช่นนี้ก็เพื่อให้ศาลพิจารณาว่าการประเมินและคำวินิจฉัยชอบหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเปลี่ยนแปลง แก้ไข ยกเลิก หรือเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลางแล้ว การที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ ต้องรอฟังคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลภาษีอากรกลางก่อน การที่จำเลยทั้งสามไม่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงหาเป็นการโต้แย้งสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องไม่ เพราะมิเช่นนั้นบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ต่อศาลจะไร้ผล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากรจำนวน 935,757.97 บาท
จำเลยทั้งสามให้การว่า การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยที่ 1 มิได้แสดงยอดขายและภาษีขายต่ำกว่าที่ขายจริง และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 158/2545 ให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายและภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 12,727 บาท แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายสำหรับปี 2537 พร้อมเงินเพิ่มเป็นเงิน 9,756 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2537 พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน 887,784 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2537 พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน 928,094 บาท จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเหลือ 2,969 บาท ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ยกอุทธรณ์เนื่องจากเห็นว่าการประเมินชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 158/2545 ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง โจทก์ก็ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 88/5 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินตามบทบัญญัติในส่วน 2 ของหมวด 2 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร คืออุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 30 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้วมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 30 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่จะเป็นกรณีต้องห้ามอุทธรณ์ การที่กฎหมายให้อุทธรณ์ต่อศาลเช่นนี้ก็เพื่อให้ศาลพิจารณาว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเปลี่ยนแปลง แก้ไข ยกเลิกหรือเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลางแล้ว การที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ ต้องรอฟังคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลภาษีอากรกลางในคดีดังกล่าวก่อน การที่จำเลยทั้งสามไม่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้จึงหาเป็นการโต้แย้งสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องไม่ เพราะมิฉะนั้นบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ต่อศาลจะไร้ผล ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องเฉพาะในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share