คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยยกเหตุคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับค่าธรรมเนียมศาลทั้งสองครั้งรวมมาในคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ หามีผลทำให้จำเลยไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของบทบัญญัติมาตรา 234 ไม่ และแม้ว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องนำค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนมาวางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์โดยไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของบทบัญญัติมาตรา 234 ให้ครบถ้วน คำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี และเงินจำนวน 134,744.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2541 จนถึงวันฟ้อง (วันที่ 22 มิถุนายน 2544) และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ของต้นเงิน 10,134,744.13 บาท นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 5705, 3242, 2401 ถึง 2406 และ 4588 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด และทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และกองมรดกของนายเทียมศักดิ์ ธนะแพทย์ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์คำพิพากษาพร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แต่เฉพาะบางส่วนโดยให้จำเลยทั้งสามนำค่าธรรมเนียมศาลจำนวน 50,000 บาท มาชำระภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2547 อันเป็นวันมีคำสั่ง จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางค่าธรรมเนียมศาลหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าธรรมเนียมศาลภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2548 ครั้นถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2548 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอวางค่าธรรมเนียมศาลเพียง 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจะนำมาชำระภายใน 60 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ากรณีไม่มีพฤติการณ์พิเศษ ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ วันที่ 28 มิถุนายน 2548 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยทั้งสาม ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอวางค่าธรรมเนียมศาลอีก 40,000 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์แล้ว จึงไม่อนุญาตและไม่รับค่าธรรมเนียมศาล 40,000 บาท ที่จำเลยที่ 3 นำมาวางศาล
วันที่ 7 กรกฎาคม 2548 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับค่าธรรมเนียมศาลที่จำเลยที่ 3 นำมาวางศาลเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2548 และวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 (ที่ถูกต้องทำเป็นอุทธรณ์) โดยอ้างว่าหนี้ตามฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลชั้นต้นพิพากษาคลาดเคลื่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 เป็นการอุทธรณ์ในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างเดียวจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 165 (ที่ถูกมาตรา 168) ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
วันที่ 25 กรกฎาคม 2548 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ยื่นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 รวมทั้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับค่าธรรมเนียมศาลที่จำเลยที่ 3 นำมาวางศาลทั้งสองครั้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2548 ว่า ให้จำเลยที่ 3 นำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันดังกล่าว จำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตาม แต่ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ (ที่ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 4) มีคำสั่งรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 3 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อพิจารณาสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 หากจำเลยที่ 3 ประสงค์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 ก็ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น และนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง แม้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จะเป็นเรื่องที่ขอให้ศาลรับค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์เกี่ยวเนื่องกับการขอขยายระยะเวลาวางค่าธรรมเนียมศาลดังกล่าวก็ตาม แต่ก็เป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีแล้ว เมื่อมีการอุทธรณ์ย่อมทำให้การบังคับคดีต้องล่าช้าออกไป อาจเสียหายแก่โจทก์ผู้ชนะคดีได้ จำเลยที่ 3 จึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของบทบัญญัติ มาตรา 234 ในกรณีเช่นนี้ให้ครบถ้วนด้วย การที่จำเลยที่ 3 ยกเหตุคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับค่าธรรมเนียมศาลทั้งสองครั้งรวมมาในคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ หามีผลทำให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของบทบัญญัติมาตรา 234 ไม่ และแม้ว่าจำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน เป็นผลให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องนำค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนมาวางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 157 ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์โดยไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของบทบัญญัติมาตรา 234 ให้ครบถ้วน คำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์จำเลยที่ 3 จึงชอบแล้ว ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ซึ่งจำเลยที่ 3 นำมาวางศาลด้วยนั้นเป็นปัญหาตามอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 โดยทำเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งและเสียค่าขึ้นศาลมา 200 บาท ซึ่งที่ถูกต้องแล้วต้องทำเป็นอุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งฉบับดังกล่าวมีผลเท่ากับเป็นการสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในส่วนนี้แก่จำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นสั่งให้ค่าคำร้องเป็นพับจึงไม่ถูกต้อง เห็นสมควรสั่งคืนค่าขึ้นศาลจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3”
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท ตามอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 แก่จำเลยที่ 3

Share