แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เหตุเกิดเวลากลางคืนโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ชกต่อยทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย และจำเลยที่ 1 เอาสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่อง จำนวน 1 องค์ ของผู้เสียหายไปแต่การที่จำเลยทั้งสามสอบถามผู้เสียหายครั้งแรกที่ป้ายรถโดยสารประจำทางก็โดยมีเจตนาต้องการทราบว่าผู้เสียหายเป็นนักเรียนโรงเรียน ล. หรือไม่ หากว่าเป็นนักเรียนโรงเรียนดังกล่าว จำเลยทั้งสามจะได้แก้แค้นเมื่อผู้เสียหายบอกว่าไม่ใช่ จำเลยทั้งสามไม่เชื่อต่อมาเมื่อผู้เสียหายลงจากรถโดยสารประจำทางจึงถูกจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันทำร้ายร่างกายการที่จำเลยที่ 1 เอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปขณะทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ทราบ และไม่มีเจตนาที่จะร่วมกันชิงทรัพย์หรือลักทรัพย์และจำเลยทั้งสามไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มาแต่แรก คงมีเจตนาทำร้ายร่างกายเท่านั้น ดังนี้จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง จำเลยที่ 3มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 391 คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาคดีรวมกัน โดยโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์ซึ่งรวมถึงการชิงทรัพย์และทำร้ายร่างกายด้วยเฉพาะจำเลยที่ 3 ผู้เดียวฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1และที่ 3 ในการกระทำความผิดดังกล่าวตามที่ทางพิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสุดท้ายประกอบด้วยมาตรา 215,225 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 แม้จะได้ร่วมชักถามผู้เสียหายแต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งไม่ปรากฏว่าได้หลบหนีไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 3แสดงว่าไม่ได้ร่วมกระทำกับจำเลยที่ 1 และที่ 3เมื่อเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยแม้มิได้ฎีกา ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
เดิมคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 1421-1422/25401 ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษารวมกัน เพื่อความสะดวกในการพิจารณาพิพากษาศาลชั้นต้นให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 2 และเรียกจำเลยในสำนวนนี้ว่า จำเลยที่ 3แต่เนื่องจากจำเลยที่ 3 ฎีกาแต่ผู้เดียว จึงให้แยกการพิจารณาพิพากษาออกจากกัน
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 83
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1), 391 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคหก เรียกกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานลักทรัพย์จำคุก 2 ปี ฐานทำร้ายร่างกายจำคุก 1 เดือน รวมจำคุก2 ปี 1 เดือน จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหก จำคุก1 เดือน ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคหนึ่ง, 83 ให้จำคุกคนละ 10 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกไว้มีกำหนดคนละ 6 ปี 8 เดือน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3มีว่า จำเลยที่ 3 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 1 นาฬิกาขณะที่ผู้เสียหายรอขึ้นรถโดยสารประจำทางที่ป้ายรถโดยสารประจำทางหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์รามคำแหง ได้มีจำเลยทั้งสามเข้าประกบผู้เสียหายทางด้านขวามือหนึ่งคน และทางด้านซ้ายมือสองคน จำเลยที่ 2 ถามว่า บ้านอยู่ที่ไหน ผู้เสียหายตอบว่าอยู่ดินแดงแล้วถามเกี่ยวกับการทำงาน ผู้เสียหายตอบว่าทำงานที่สยามจัสโก้สาขาสุขาภิบาล 1 ขณะนั้นผู้เสียหายถือสมุดเล่มหนึ่ง จำเลยที่ 3ได้หยิบสมุดไปดูแล้วถามว่าเรียนอยู่หรือไม่ ผู้เสียหายตอบว่าไม่ได้เรียน จำเลยที่ 3 พูดว่าไม่เชื่อ หลังจากนั้นได้คืนสมุดให้ผู้เสียหาย ขณะเดียวกันรถโดยสารประจำทางสาย 60 มา ผู้เสียหายจึงได้ขึ้นรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยทั้งสามขึ้นรถยนต์คันดังกล่าวตามไปด้วย เมื่อถึงบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด ผู้เสียหายลงจากรถโดยสารประจำทางพร้อมจำเลยทั้งสาม บ้านของผู้เสียหายจะต้องเดินข้ามสะพานลอย แต่เมื่อผู้เสียหายเดินมาถึงใต้สะพานลอยจำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้ามารุมชกต่อยผู้เสียหาย โดยจำเลยที่ 3เดินเข้ามาทางด้านหน้าพร้อมกับขึ้นเข่าและต่อย ส่วนจำเลยที่ 1เข้ามาทางด้านหลังและจับด้านหลังของผู้เสียหายไว้เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนี ขณะนั้นจำเลยที่ 2 ยืนห่างผู้เสียหายประมาณ 1 เมตรยืนมองซ้ายมอบขวาลักษณะหวาดระแวง จำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำ1 เส้น หนัก 1 บาท พร้อมพระเครื่องหุ้มกรอบสแตนเลสรวมราคาประมาณ4,000 บาท ไป หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 3 วิ่งข้างถนนหลบหนีไปส่วนจำเลยที่ 2 คงยืนอยู่ที่เดิมเกิดเหตุแล้วผู้เสียหายได้ร้องขอให้คนช่วยพร้อมกับไปที่ป้อมตำรวจจราจรซึ่งห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ50 เมตร พบเจ้าพนักงานตำรวจจราจรผู้เสียหายแจ้งเหตุให้ทราบเจ้าพนักงานตำรวจจราจรนำผู้เสียหายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน ผู้เสียหายได้แจ้งความพร้อมกับระบุรูปพรรณสัณฐานของคนร้าย ต่อมาอีกครู่หนึ่งเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 นำไปจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 3 นอกจากนี้โจทก์ยังมีจ่าสิบตำรวจสมบัติ เครือนาค เจ้าพนักงานตำรวจจราจรผู้รับแจ้งครั้งแรกและนำผู้เสียหายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลมักกะสันพลตำรวจประจวบ เศรษฐสุข ผู้จับกุมจำเลยทั้งสามได้ในคืนเกิดเหตุพร้อมด้วยสร้อยคอทองคำเป็นของกลางจากจำเลยที่ 1 พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งจำเลยที่ 1และที่ 3 ก็นำสืบรับเข้ามาว่า ได้ชกต่อยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 เอาสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องจำนวน 1 องค์ของผู้เสียหายไปจริง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังที่โจทก์นำสืบ ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสามสอบถามผู้เสียหายครั้งแรกที่ป้ายรถโดยสารประจำทางเกี่ยวกับการทำงาน การเรียน และจำเลยที่ 3 หยิบสมุดของผู้เสียหายไปดู ทั้งนี้แสดงเจตนาว่าต้องการทราบว่าผู้เสียหายเป็นนักเรียนโรงเรียนลาดพร้าววิทยาหรือไม่ ซึ่งหากว่าเป็นนักเรียนโรงเรียนดังกล่าว จำเลยทั้งสามจะได้แก้แค้น เนื่องจากจำเลยที่ 1เคยถูกนักเรียนโรงเรียนลาดพร้าววิทยาใช้ถุงน้ำแข็งขว้างขณะดูคอนเสิร์ตที่สนามกีฬากองทับบก เมื่อผู้เสียหายบอกว่าไม่ใช่นักเรียน จำเลยทั้งสามไม่เชื่อ เมื่อผู้เสียหายลงจากรถโดยสารประจำทางจึงถูกจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันทำร้ายร่างกาย เมื่อจำเลยที่ 1 เอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปขณะทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ทราบ และไม่มีเจตนาที่จะร่วมกันชิงทรัพย์หรือลักทรัพย์ เพราะถ้าหากมีเจตนาที่จะลักทรัพย์จำเลยทั้งสามก็น่าจะลงมือกระทำการลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์ในครั้งแรกแล้ว ไม่ต้องสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เสียหายอีกทั้งในคืนเกิดเหตุผู้เสียหายสวมเสื้อยืดทับสร้อยคอทองคำและใส่เสื้อเชิ้ตทับอีกชั้นหนึ่ง จำเลยทั้งสามจึงไม่เห็นทรัพย์ไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มาแต่แรก คงมีเจตนาทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ขณะทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย จำเลยที่ 1แต่ผู้เดียวเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไป จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 391 ซึ่งแม้โจทก์จะไม่ฟ้องข้อหาทั้งสอง แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์ซึ่งรวมถึงการชิงทรัพย์และทำร้ายร่างกายด้วยศาลฎีกามีอำนาจลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสุดท้าย ประกอบด้วยมาตรา 215, 225 ส่วนจำเลยที่ 2ไม่ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 แม้จะได้ร่วมชักถามผู้เสียหายก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำร้ายร่างกาย ทั้งไม่ปรากฏว่าได้หลบหนีไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 แสดงว่าไม่ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1และที่ 3 เห็นว่าเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยแม้มิได้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ให้จำคุก 10 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 391 จำคุก 1 เดือน ปรับ 900 บาท คำให้การรับในชั้นสอบสวนและทางนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุก จำเลยที่ 1 ไว้ 6 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3ไว้ 20 วัน ปรับ 600 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามมาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2