คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3515/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเข้าไปตัดโค่นต้นยางพารา ในที่ดินพิพาทแล้วได้ปลูก ต้นยางพารา ใหม่ทดแทน โจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีอาญากับจำเลยในข้อหาเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและการตัดโค่นยางพาราในที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานตำรวจได้ไกล่เกลี่ยจนจำเลยตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในการโค่นต้นยางพารา ดังกล่าว หลังจากที่โจทก์กับจำเลยตกลงกันได้แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจผู้รับคำร้องทุกข์ก็หาได้ดำเนินคดีตามที่โจทก์ร้องทุกข์ไว้ไม่ เห็นได้ว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีอาญากับจำเลยอีก เพราะหากจำเลยยังต้องถูกดำเนินคดีตามที่โจทก์ร้องทุกข์ไว้โดย ไม่มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน จำเลยคงจะไม่ยินยอมชดใช้ ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นการยอมความกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) มิใช่เป็นการตกลงยอมความกันเฉพาะในทางแพ่ง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 359
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยเข้าไปตัดโค่นต้นยางพาราในที่ดินพิพาททั้งแปลงแล้วได้ปลูกต้นยางพาราใหม่ที่ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดตรังทดแทน มีปัญหาวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองระงับไปหรือไม่ ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกพีระ กัญจนโรจน์ และจ่าสิบตำรวจสมเกียรติสถิตย์ธรรม พยานโจทก์ทั้งสองว่าร้อยตำรวจเอกพีระได้รับคำร้องทุกข์จากโจทก์ทั้งสองให้ดำเนินคดีอาญากับจำเลยในข้อหาเกี่ยวกับที่ดินพิพาท และการตัดโค่นต้นยางพาราในที่ดินพิพาทร้อยตำรวจเอกพีระได้ทำการไกล่เกลี่ยจนจำเลยตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองในการโค่นต้นยางพาราดังกล่าวจำนวน 8,000 บาท แต่ปรากฏว่า จำเลยกลับผิดนัดไม่ยอมชำระค่าเสียหายตามที่ตกลงกันให้แก่โจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังมีนายเอิ้น ชูทอง พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความสนับสนุนว่าโจทก์ทั้งสอง จำเลย และพยานได้เจรจาออมชอมกันจำเลยยอมจ่ายค่าเสียหายให้ข้อตกลงได้ทำบันทึกไว้ด้วย เห็นว่า แม้จะไม่ได้บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยมาอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานแต่ข้อเท็จจริงตามที่พยานทั้งสามปากของโจทก์ทั้งสองเบิกความมาฟังได้ว่าได้มีการตกลงกันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยจริงโดยจำเลยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองในการที่จำเลยเข้าไปตัดโค่นต้นยางพาราในที่ดินพิพาทซึ่งหลังจากที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงกันได้แล้ว ร้อยตำรวจเอกพีระผู้รับคำร้องทุกข์จากโจทก์ทั้งสองก็หาได้ดำเนินคดีตามที่โจทก์ทั้งสองร้องทุกข์ไว้ไม่ ย่อมชี้ชัดให้เห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสองไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีอาญากับจำเลยอีก และหากจำเลยยังต้องถูกดำเนินคดีตามที่โจทก์ทั้งสองร้องทุกข์ไว้โดยไม่มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน จำเลยคงจะไม่ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองอย่างแน่นอน ข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงเป็นการยอมความกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)หาใช่เป็นการตกลงยอมความกันเฉพาะในทางแพ่งดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองย่อมระงับไปตามบทบัญญัติกฎหมายข้างต้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วให้พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share