คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 441/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องกล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2511 เวลากลางวัน จำเลยบังอาจออกเช็คสั่งจ่ายเงินใน วันที่ 8 สิงหาคม 2511 มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เป็นคำฟ้องที่กล่าวหาว่าจำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินล่วงหน้า เช่นนี้ ต้องถือเอาวันถึงกำหนดใช้เงินที่ลงไว้ในเช็คเป็นวันเวลากระทำผิด วันที่จำเลยออกเช็ค หรือวันที่เขียนเช็คส่งมอบให้โจทก์จึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคำฟ้อง
การที่โจทก์ขอแก้วันที่จำเลยออกเช็คหรือวันที่เขียนเช็คให้โจทก์ในเวลาภายหลังต่อมา เท่ากับเป็นการแก้ไขในข้อที่ไม่ใช่ข้อสารสำคัญในคำฟ้องและเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่า มิได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่นำสืบรับว่าได้ออกเช็คตามฟ้องจริง แต่ออกให้คนอื่น ดังนี้ ไม่ทำให้เห็นว่าจำเลยเสียเปรียบหรือหลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือข้อที่โจทก์แก้ฟ้อง
ถึงแม้จะปรากฏว่าวันออกเช็คให้โจทก์หรือวันเขียนเช็คให้โจทก์ตามคำฟ้องจะเป็นวันหนึ่ง ทางพิจารณากลับเป็นอีกวันหนึ่งต่างกัน ก็มิใช่ข้อแตกต่างในข้อสารสำคัญ และจำเลยหลงต่อสู้อันต้องแยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๑ จำเลยออกเช็คธนาคารสหธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางโพ เลขที่ บี.พี. ๑๙-๐๐๕๕๖๔ สั่งจ่ายเงิน ๗,๘๐๐ บาท ในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๑ มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัด บี.เอ็ม.ก่อสร้าง สลักหลังเป็นผู้ค้ำประกัน วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๑ เวลากลางวัน โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีที่ธนาคารไทยพัฒนา จำกัด สำนักงานใหญ่ เพื่อเรียกเก็บเงินรุ่งขึ้นธนาคารสหธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางโพ ปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้ โดยจำเลยมีเจตนาออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนเงินสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ขณะออกเช็ค และโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค เหตุเกิดที่ตำบลป้อมปราบ อำเภอป้อมปราบ จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์หมดแล้ว โจทก์ขอแก้ฟ้องวันออกเช็คเป็นวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๑ ศาลชั้นต้นอนุญาตแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ จำคุก ๒ เดือน
จำเลยอุทธรณ์ว่า วันออกเช็คเป็นวันกระทำผิด ไม่ควรอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง และวันที่ออกเช็คคือวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๑ ตามที่ศาลอนุญาตให้แก้แตกต่างกับวันพยานโจทก์เบิกความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยมิได้ออกเช็คให้โจทก์ในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๑ โจทก์ขอแก้เป็นวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๑ เป็นการแก้ในรายละเอียด แต่จำเลยหลงต่อสู้ทั้งเมื่อแก้ตัวแล้ว โจทก์มิได้แก้คำให้การซึ่งได้ให้ไว้ต่อศาล จึงเป็นเรื่องฟ้องแตกต่างขัดกับทางพิจารณา พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาว่า วันที่จำเลยออกเช็คมิใช่ข้อสารสำคัญ จำเลยมิได้หลงต่อสู้ ขอให้ลงโทษตามฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกิดขึ้นต่อเมื่อ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ในกรณีออกเช็คล่วงหน้าเช่นในคดีนี้ ยังถือไม่ได้ว่าวันที่ออกเช็คหรือเขียนเช็ค เป็นเวลาเกิดเหตุการกระทำความผิด ต้องถือเอาวันถึงกำหนดใช้เงินที่ลงไว้ในเช็คเป็นวันกระทำความผิด ดังนั้น วันที่จำเลยออกเช็คหรือเขียนเช็คส่งมอบให้โจทก์จึงไม่ใช่ข้อสารสำคัญในคำฟ้อง โดยนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๑๗/๒๕๐๗ และคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๘/๒๕๐๙
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๑ เวลากลางวัน จำเลยบังอาจออกเช็คสั่งจ่ายเงิน ๗,๘๐๐ บาท ในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๑ มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ และโจทก์นำเช็คที่กล่าวไปเข้าบัญชีธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๑ อันเป็นวันถึงกำหนดใช้เงิน เช่นนี้ เห็นได้ว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยออกเช็คหรือเขียนเช็คสั่งจ่ายเงินล่วงหน้าให้โจทก์ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ แล้ว การที่โจทก์ขอแก้วันที่ที่จำเลยออกเช็คหรือเขียนเช็ค คือขอแก้วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๑ เป็นวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๑ เท่ากับโจทก์ขอแก้วันที่จำเลยออกเช็คหรือเขียนเช็ค จึงเป็นการแก้ฟ้องในข้อที่มิใช่ข้อสารสำคัญ จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่ามิได้กระทำความผิด แต่นำสืบพยานรับว่า จำเลยได้ออกเช็คตามฟ้องให้นายสว่างผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด บี.เอ็ม.ก่อสร้าง ดังนั้น จึงเห็นว่า วันที่จำเลยออกเช็คหรือเขียนเช็คให้โจทก์จะเป็นวันที่ ๘ หรือวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๑ วันไหนก็ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือหลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่โจทก์ขอแก้ฟ้อง และที่พยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยออกเช็คให้โจทก์ในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๑ ต่อมาโจทก์ขอแก้ฟ้องเป็นวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๑ โดยโจทก์มิได้ขอแก้คำเบิกความให้เป็นไปตามฟ้องที่ได้ขอแก้แล้ว ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง อันจะต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ เพราะข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสารสำคัญ และทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้
โจทก์นำสืบพยานฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็ค ซึ่งจำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย และนำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๑ อันเป็นวันถึงกำหนดใช้เงินตามเช็ค ธนาคารปฏิเสธการใช้เงิน เพราะเงินของจำเลยในบัญชีมีไม่พอจ่าย จำเลยนำสืบให้หลุดพ้นความรับผิดไม่ได้ จำเลยจึงต้องมีความผิดตามฟ้อง
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share