แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องระบุจำนวนหนี้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดเป็นกรณีที่ต้องชำระหนี้กันเป็นเงินต่างประเทศ ศาลจะพิพากษาให้ใช้เงินต่างประเทศหรือจะให้ส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคหนึ่ง และ ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง บัญญัติว่า การเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน อัตราแลกเปลี่ยนเงินตามมาตรานี้หมายถึงอัตราที่จะแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรีในเวลาที่จำเลยได้ใช้เงินจริง ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเงินนี้ตามปกติจะคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่ขายเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินตราไทยในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์ และเพื่อความสะดวกแก่การบังคับคดีจึงให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในวันที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกา ถ้าไม่มีอัตราการขายในวันนั้นก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา
โจทก์นำสืบเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ความตามที่อ้าง กรณีเป็นหนี้เงินจึงให้เรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างติดตั้งเครื่องจักร ๒๘๘,๙๒๘ ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยคิดเป็นเงินไทยจำนวน ๙,๕๒๖,๑๖๙.๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราไพรม์เรทของธนาคารแห่งอเมริกาจากต้นเงิน ๗,๓๘๗,๘๘๘.๙๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินไม่ถูกต้องและไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปี และไม่มีหนี้ที่ต้องชำระ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑,๐๙๑,๒๗๖.๔๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๓.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔ ถึงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๔ อัตราร้อยละ ๑๓ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๔ ถึงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ อัตราร้อยละ ๑๒.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ ถึงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๔ อัตราร้อยละ ๑๑.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๓๔ ถึงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๕ อัตราร้อยละ ๑๑ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ และอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ ๒๐,๐๐๐ บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๗,๓๘๗,๘๘๘.๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๓๐,๐๐๐ บาท
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๓๒ จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ในการผลิตกระดาษจากโจทก์เพื่อนำไปติดตั้ง ณ โรงงานของจำเลยที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยโจทก์เป็นผู้ควบคุมดูแลการติดตั้งและเปิดเดินเครื่องจักร จำเลยมีหน้าที่ชำระค่าเครื่องจักรกับค่าควบคุมดูแลการติดตั้งและเปิดเดินเครื่องจักรแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรเสร็จสิ้น และเปิดเดินเครื่องจักรได้ในวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๔ จำเลยชำระค่าเครื่องจักรให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยยังค้างชำระค่าจ้างติดตั้งเครื่องจักรตามที่โจทก์ฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจำนวน ๒๘๘,๙๒๘ ดอลลาร์สหรัฐพร้อมดอกเบี้ย ถ้าจะให้ชำระเป็นเงินไทยก็ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ ๒๕.๕๗ บาท เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องระบุจำนวนหนี้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดเป็นกรณีที่ต้องชำระหนี้กันเป็นเงินต่างประเทศ ศาลจะพิพากษาให้ใช้เงินต่างประเทศหรือจะให้ส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๖ วรรคหนึ่งและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๖ วรรคสอง บัญญัติว่า การเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน อัตราแลกเปลี่ยนเงินตามมาตรานี้หมายถึงอัตราที่จะแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรี ในเวลาที่จำเลยได้ใช้เงินจริงซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเงินนี้ตามปกติจะคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่ขายเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินตราไทยในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์และเพื่อความสะดวกแก่การบังคับคดีจึงให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในวันที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกา ถ้าไม่มีอัตราการขายในวันนั้นก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศในวันออกใบแจ้งหนี้ ณ วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๓๔ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เนื่องจากโจทก์ขอใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในวันออกใบแจ้งหนี้ ๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ ๒๕.๕๗ บาท เป็นเงิน ๗,๓๘๗,๘๘๘.๙๐ บาท ในคำขอท้ายฟ้อง ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๗,๓๘๗,๘๘๘.๙๐ บาท โจทก์จึงไม่อาจรับชำระหนี้จากจำเลยเกินกว่าจำนวนเงินดังกล่าวได้ ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราไพรม์เรท (ลูกค้าชั้นดี) ของธนาคารแห่งอเมริกาบวกด้วยร้อยละ ๕ ต่อปีเท่ากับอัตราร้อยละ ๑๓.๕ ต่อปีนั้น เห็นว่า ตามสัญญาข้อ ๔.๒ วรรคท้าย กำหนดดอกเบี้ยที่เกิดจากการชำระราคาล่าช้าเท่ากับอัตราดอกเบี้ยไพรม์เรท ของธนาคารแห่งอเมริกาบวกด้วยร้อยละ ๕ ต่อปี ซึ่งโจทก์ได้ขอดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเพียงอัตราไพรม์เรทของธนาคารแห่งอเมริกาเท่านั้น แต่โจทก์ก็นำสืบไม่ชัดแจ้งว่าดอกเบี้ยอัตราไพรม์เรทของธนาคารแห่งอเมริกาดังกล่าว ณ วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยผิดนัดมีอัตราเท่าไรและเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถือว่าโจทก์นำสืบเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ความตามที่อ้าง กรณีเป็นหนี้เงินจึงให้เรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์กำหนดอัตราดอกเบี้ยชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน ๒๘๘,๙๒๘ ดอลลาร์สหรัฐแก่โจทก์ โดยให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มีก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา แต่ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สหรัฐ ต้องไม่เกิน ๒๕.๕๗ บาท และเมื่อคิดเป็นต้นเงินต้องไม่เกินกว่า ๗,๓๘๗,๘๘๘.๙๐ บาทตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ.