คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับของสหภาพแรงงานคุรุสภาโจทก์มีว่า คณะกรรมการสหภาพแรงงานเป็นผู้แทนของสหภาพแรงงานในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกและเพื่อการนี้คณะกรรมการสหภาพแรงงานอาจมอบหมายให้ประธานกรรมการร่วมกับกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนกระทำการแทนได้. ดังนี้ การที่สหภาพแรงงาน ฯ โจทก์จะดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกจะต้องมอบหมายให้ประธานกรรมการร่วมกับกรรมการอื่นเป็นผู้ทำการแทน และไม่อาจแปลได้ว่าอาจมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งทำการแทนดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ได้ ฉะนั้นการที่โจทก์โดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานมอบให้ประธานกรรมการเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแต่เพียงผู้เดียวจึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๗ จำเลยได้ประกาศใช้ระเบียบคุรุสภา ว่าด้วยการบรรจุ การเลื่อนเงินเดือน การแต่งตั้ง และการออกของเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๒๗ ข้อความในระเบียบเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การประกาศใช้ระเบียบดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยกระทำไปโดยมิชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง มาตรา ๑๓, ๑๘ และ ๒๐ โจทก์เป็นสหภาพแรงงานของเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์และสมาชิกของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ โดยยกเลิกระเบียบคุรุสภาดังกล่าวทั้งฉบับ หรือเฉพาะข้อความที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไม่ได้ บรรดาคำสั่งที่เป็นโทษซึ่งสั่งโดยอาศัยความตามระเบียบดังกล่าว และให้คืนสิทธิและประโยชน์ที่สมาชิกของโจทก์เสียไปเพราะคำสั่งของจำเลย
จำเลยให้การว่า การมอบอำนาจของโจทก์ที่มอบอำนาจให้นายเปรมประชาเสนาเลี้ยง ประธานสหภาพแรงงานคุรุสภา ฟ้องและดำเนินคดีในศาลไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์เพราะไม่ปรากฏหลักฐานการมอบอำนาจโดยชัดแจ้ง และนายเปรมประชาในฐานะประธานสหภาพแรงงานคุรุสภาไม่มีอำนาจดำเนินการได้โดยลำพัง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การแก้ไขระเบียบข้อบังคับนั้นจำเลยมีอำนาจทำได้โดยไม่ต้องแจ้งและทำความตกลงกับโจทก์ ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวมิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การแก้ไขเพิ่มเติมจึงไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าสหภาพแรงงานฟ้องคดีนี้โดยมอบอำนาจให้นายเปรมประชา เสนาเลี้ยง ประธานกรรมการสหภาพแรงงานโจทก์เป็นผู้รับมอบอำนาจแต่ผู้เดียว เป็นการไม่ชอบด้วยข้อบังคับของสหภาพแรงงานซึ่งกำหนดให้การทำการแทนต้องมอบหมายให้ประธานกรรมการร่วมกับกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ทำการแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์อุทธรณ์เกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องว่า การที่โจทก์มอบอำนาจให้ประธานกรรมการคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เป็นการมอบอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายและมิได้ขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ข้อ ๒๖ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๐๐ วรรคแรก บัญญัติว่า “ให้สหภาพแรงงานมีคณะกรรมการผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนของสหภาพแรงงานในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้” เป็นข้อกำหนดให้สหภาพแรงงานซึ่งเป็นนิติบุคคลดำเนินกิจการต่าง ๆ โดยทางผู้แทนทั้งหลายที่เรียกว่าคณะกรรมการ ส่วนข้อบังคับของสหภาพแรงงานโจทก์ ข้อ ๒๖ ระบุว่า “คณะกรรมการสหภาพแรงงานเป็นผู้ดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานให้เป็นไปตามวัตถุที่ประสงค์ ข้อบังคับและมติของที่ประชุมใหญ่ และเป็นผู้แทนของสหภาพแรงงานในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการสหภาพแรงงานอาจมอบหมายให้ประธานกรรมการร่วมกับกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ทำการแทนได้โดยมีหลักฐานการมอบหมายให้ปรากฏ” ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นข้อบังคับของสหภาพแรงงานโจทก์อันเป็นนิติบุคคลในการที่จะดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก จะต้องมอบหมายให้ประธานกรรมการร่วมกับกรรมการอื่นเป็นผู้ทำการแทน คำว่า อาจมอบหมาย ในข้อบังคับของโจทก์มิใช่มีความหมายเลยไปถึงการอาจมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งทำการแทนดังบทบัญญัติในมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ดังอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์โดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานโจทก์ให้ประธานกรรมการเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีนี้แต่เพียงผู้เดียว จึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับของสหภาพแรงงานโจทก์ ซึ่งถือเป็นข้อกำหนดในการดำเนินงานซึ่งโจทก์ต้องปฏิบัติตาม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
พิพากษายืน

Share