คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3975/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต แล้วไม่รื้อถอนตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจนถูกดำเนินคดีและ เปรียบเทียบปรับไปแล้ว โจทก์ก็มิใช้อำนาจรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้าง ผิดแบบนั้นตามที่พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 มาตรา 11 ทวิให้อำนาจไว้ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้โอนขายอาคารนั้นให้แก่จำเลยที่1 โจทก์ก็ยังมิได้รื้อถอนส่วนที่ก่อสร้างผิดแบบนั้นแต่ประการใด คงปล่อยปละละเลยเรื่อยมาจนพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 ถูกยกเลิกและใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บังคับซึ่งพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้แม้มาตรา 40 และ มาตรา 42 ให้อำนาจโจทก์ขอให้ศาลสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนอาคารส่วนที่สร้างผิดแบบนั้นได้ก็จะมาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายย้อนหลังที่มีผลเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้เป็นผู้ปลูกสร้างอาคารส่วนที่ผิดแบบนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 อนึ่งแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาขึ้นมา แต่เป็นเรื่องเกี่ยวด้วย การชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคารตึกแถว ผู้ปฏิบัติราชการแทนโจทก์ได้อนุญาตให้ปลูกสร้างได้ตามที่ขออนุญาตโดยกำหนดให้มีที่ว่างเป็นทางเดินหลังอาคารได้ถึงกันกว้าง ๒ เมตร ยาวตลอดแนวตึกแถว รวมทั้งห้องเลขที่ ๒๘๑/๔๒ ด้วย จำเลยที่ ๒ ได้ต่อเติมแก้ไขดัดแปลงอาคารดังกล่าวให้ผิดแผกไปจากแผนผังและแบบที่ได้รับอนุญาต โดยต่อเติมอาคารรวมทั้งห้องเลขที่ดังกล่าวออกไปทางด้านหลังปกคลุมที่ว่างทางเดินหลังอาคารที่ว่างอยู่ ๒ เมตรนั้น โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ ๒ โดยเปรียบเทียบปรับไปแล้วต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ (ซื้อ) ที่ดินและอาคารเลขที่ ๒๘๑/๔๒ จากจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ จึงต้องร่วมรับผิดชอบในการปลูกสร้างดัดแปลงดังกล่าวด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนส่วนของอาคารส่วนที่ต่อเติมดัดแปลงดังกล่าวออก หากไม่ยอมรื้อ ขอให้โจทก์รื้อถอนโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเสียค่าใช้จ่ายแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้หลายประการและว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนส่วนของอาคารตามฟ้อง หากไม่รื้อให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยจำเลยทั้งสองร่วมกันเสียค่าใช้จ่ายแทนโจทก์
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ปลูกสร้างอาคารตึกแถวพิพาท ในขณะที่พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ ใช้บังคับและจำเลยที่ ๒ ได้ก่อสร้างต่อเติมอาคารตึกแถวพิพาทซึ่งอยู่ด้านหลังปกคลุมทางเดินหลังอาคารตึกแถวพิพาทตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนก่อสร้างสำเร็จเรียบร้อยรวมทั้ง ๔ ชั้น ตลอดเวลาที่ก่อสร้างต่อเติมอาคารตึกแถวพิพาทอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้รายงานให้ทางเขตบางรักทราบ เขตบางรักมีหนังสือให้จำเลยที่ ๒ ดำเนินการรื้อถอนส่วนที่ต่อเติมออกไป จำเลยที่ ๒ เพิกเฉยคงก่อสร้างไปเรื่อย ๆจนเสร็จเรียบร้อยดังกล่าวข้างต้น ทางเขตบางรักจึงได้มีหนังสือร้องทุกข์ไปยังสถานีตำรวจนครบาลบางรัก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางรักดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๒ โดยการเปรียบเทียบปรับเป็นเงินค่าปรับอย่างสูง ๕,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๒๑ ต่อจากนั้นโจทก์ก็มิใช่อำนาจรื้อถอนอาคารตึกแถวพิพาทส่วนต่อเติมนั้นตามอำนาจของโจทก์ดังที่พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๑๑ ทวิ ให้อำนาจไว้จนกระทั่งต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๑ จำเลยที่ ๒ ได้โอนขายอาคารตึกแถวพิพาทรวมทั้งส่วนที่ต่อเติมให้แก่จำเลยที่ ๑ โจทก์ก็ยังมิได้รื้อถอนส่วนต่อเติมนั้นแต่ประการใด คงปล่อยปละละเลยเรื่อยมาจนพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ ถูกยกเลิกและใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ บังคับ ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ แม้มาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๒ ให้อำนาจโจทก์ ขอให้ศาลสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนอาคารนั้นได้ ก็จะมาใช้บังคับแก่จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เพราะเป็นกฎหมายย้อนหลังที่มีผลเสียหายแก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งมิได้เป็นผู้ปลูกสร้างอาคารตึกแถวพิพาทส่วนที่ต่อเติม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้รื้อถอนอาคารตึกแถวพิพาทส่วนที่ต่อเติมนั้นได้ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังขึ้น อนึ่งแม้จำเลยที่ ๒ จะมิได้ฎีกาขึ้นมา แต่เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ ๒ ด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share