คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2395/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่1เป็นลูกจ้างจำเลยที่2ทำงานเป็นช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ลูกค้าของจำเลยที่2นำมาให้ซ่อมไปเพื่อทดลองเครื่องอันเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานซ่อมรถตามหน้าที่ถือได้ว่าจำเลยที่1ทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่2จำเลยที่2จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ สามีภริยาย่อมมีหน้าที่จะต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามป.พ.พ.มาตรา1461เมื่อภริยาเสียชีวิตเพราะมีการทำละเมิดสามีย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะตามป.พ.พ.มาตรา443วรรคสามโดยไม่ต้องคำนึงว่าสามีจะยากจนหรือมั่งมีและประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้หรือไม่เพราะเป็นสิทธิของสามีจะพึงได้รับชดใช้ตามกฎหมาย มารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้วเฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ตามป.พ.พ.มาตรา1564วรรคสองบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและไม่ได้ความชัดว่าเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้จึงไม่อยู่ในข่ายจะได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามป.พ.พ.มาตรา443วรรคสาม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีของนางพรสุรีย์ โจทก์ที่ 2ถึงที่ 5 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับนางพรสุรีย์ จำเลยที่ 2 ตั้งร้านจำหน่ายและรับซ่อมรถจักรยานยนต์มีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้าง จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างโดยนำรถจักรยานยนต์ซึ่งลูกค้าของจำเลยที่ 2 เอามาให้ซ่อมออกไปขับขี่ทดลองเครื่อง จำเลยที่ 1ขับขี่รถคันดังกล่าวด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ชนนางพรสุรีย์ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งห้าเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ 137,988 บาทและโจทก์ทั้งห้าคิดค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 480,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กระทำนอกเหนือจากทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกสูงเกินไป โจทก์ไม่ควรได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเพราะโจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว สามารถประกอบอาชีพด้วยตนเองได้ ไม่ได้เป็นบุคคลทุพพลภาพ และไม่ถือว่าโจทก์ขาดการอุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งห้า 266,871 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ขับขี่รถจักรยานยนต์ซึ่งลูกค้าของจำเลยที่ 2 นำมาให้ซ่อมโดยประมาท และเชื่อว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ทำงานเป็นช่างซ่อมรถจักรยานยนต์และในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปเพื่อทดลองเครื่องอันเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ซ่อมรถตามหน้าที่ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1ทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425
ปัญหาอีกข้อในเรื่องจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดเพียงใดนั้น เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการทำพิธีศพ ที่ศาลล่างกำหนดให้เป็นเงิน 66,871 บาทโจทก์มีหลักฐานการจ่ายเงินไปจริงตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.12จ.13 และจำนวนเงินก็ไม่เกินสมควรแก่ฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวผู้ตาย จึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว สำหรับค่าขาดไร้อุปการะ เห็นว่าโจทก์ที่ 1 กับผู้ตายเป็นสามีภริยากัน ย่อมมีหน้าที่จะต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 เมื่อผู้ตายเสียชีวิตเพราะมีการทำละเมิด โจทก์ที่ 1 ผู้เป็นสามีจึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า โจทก์ที่ 1จะยากจนหรือมั่งมีและประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้หรือไม่ เพราะเป็นสิทธิของโจทก์ที่ 1 จะพึงได้รับชดใช้ตามกฎหมาย แต่ผู้ตายมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1564 วรรคสองเท่านั้น เมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้วของผู้ตายและไม่ได้ความว่า เป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ จึงไม่อยู่ในข่ายจะได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม ที่ศาลล่างให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ด้วยจึงไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 คนเดียวเป็นเงิน 40,000 บาท เมื่อคิดค่าใช้จ่ายในการทำพิธีศพผู้ตายรวมเข้าด้วยเป็นเงิน 106,871 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ 66,871 บาทแก่โจทก์ทั้งห้า และใช้ค่าอุปการะ 40,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 คนเดียว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share