แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างละทิ้งงานไปและถูกตักเตือนเป็นหนังสือซึ่งข้อความในหนังสือเตือนมีว่า โจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่การงานไป และได้รับการตักเตือนแล้ว โดยโจทก์จำเลยลงชื่อไว้หนังสือดังกล่าว มีข้อความอยู่ในตัวเองแล้วว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้แสดงความผิด ของโจทก์ให้ปรากฏว่าโจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่การงานไปจึงเตือนให้โจทก์ ระมัดระวังสังวรณ์ ไว้ เป็นทำนองว่ามิให้ละทิ้งงานอีกจึงเป็นหนังสือเตือนของนายจ้างที่ได้ตักเตือนลูกจ้างที่ได้กระทำการฝ่าฝืนคำสั่ง โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วเมื่อโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยผู้เป็นนายจ้างและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วนายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เมื่อเลิกจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย จำเลยค้างค่าจ้างโจทก์อีกด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้าแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างค้างชำระ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและค่าชดเชย
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ออกจากงานด้วยสมัครใจเองตลอดเวลาที่โจทก์ทำงาน โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเรื่อยมาโจทก์ละทิ้งงานหลายครั้ง จำเลยเคยตักเตือนเป็นหนังสือแล้วโจทก์ก็ยังฝ่าฝืนอีกคือละทิ้งงานตลอดมา ครั้งสุดท้ายโจทก์ละทิ้งงานไปและออกไปจากบริษัทจำเลยอันเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และค่าเสียหายค่าจ้างค้างชำระโจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยเพียง 8 วันเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยค่าจ้างค้างชำระแก่โจทก์คำขอนอกจากนั้นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยนั้น จำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้วตามเอกสาร อ.2 ล.3 พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ระหว่างที่โจทก์ทำงานอยู่กับจำเลยนั้นโจทก์ละทิ้งหน้าที่การงานไปในวันต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในเอกสาร ล.2 ล.3 จริง คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่การงานไปอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยนั้น จำเลยได้ตักเตือนให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ เห็นว่า ข้อความในหนังสือเตือนตามเอกสารหมาย ล.2 ล.3 มีว่า”คำเตือน” “วันที่ ข้าพเจ้านายอุเบก (โจทก์) ได้ละทิ้งหน้าที่การงานไปในวันที่ และได้รับการตักเตือน แล้ว” โดยโจทก์จำเลยลงชื่อไว้ ซึ่งหนังสือทั้งสองฉบับมีข้อความเป็นหนังสือเตือนอยู่ในตัวเองแล้วว่า จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้แสดงความผิดของโจทก์ให้ปรากฏว่า โจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่การงานไปเมื่อใด จึงเตือนให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างระมัดระวังสังวรณ์ไว้ เป็นทำนองว่า มิให้ละทิ้งงานอีกถือได้ว่าเอกสารหมาย ล.2 ล.3เป็นหนังสือเตือนของนายจ้างที่ได้ตักเตือนลูกจ้างที่ได้กระทำการฝ่าฝืนคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยผู้เป็นนายจ้าง และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างประจำเมื่อเลิกจ้าง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง