คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3449/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคำสั่งของจำเลยที่สั่งถอนสัญชาติไทยของโจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยได้ โดยไม่จำต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร์ก่อนอีก
ว. บิดาโจทก์เป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมือง และมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวโดยชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสในประเทศไทยกับมารดาโจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวอพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต และเกิดบุตรคือโจทก์ในประเทศไทย ดังนี้ หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์เกิดจากมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่โจทก์จึงมิใช่บุคคลประเภทหนึ่งประเภทใดที่จะต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ อ.ด.๑๙/๔๔๙๗ เกี่ยวกับการถอนสัญชาติไทยของโจทก์โดยให้โจทก์กับพวกมีสัญชาติไทยต่อไปตามเดิม
จำเลยให้การว่า โจทก์มีบิดาเป็นคนต่างด้าวและมีมารดาเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ในขณะที่โจทก์เกิด โจทก์ย่อมถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๑(๓) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยเป็นเพียงผู้ปฏิบัติให้เป็นผลตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว และต่อสู้ในประการอื่น ๆ อีกหลายข้อขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ตามฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนบ้านเกี่ยวกับสัญชาติ โจทก์จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร์เสียก่อน มิฉะนั้นโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ จำเลยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ได้มีคำสั่งที่ อ.ด.๑๙/๔๔๙๗ เรื่อง การถอนสัญชาติส่งสำเนาหนังสือของจำเลยที่ อ.ด.๑๙/๓๗๘๐ ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ เรื่องการถอนสัญชาติ แจ้งคำสั่งของจำเลยที่สั่งถอนสัญชาติของโจทก์ ให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุดรธานีแก้ไขทะเบียนบ้านโดยให้ถอนสัญชาติไทยของโจทก์และจำหน่ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านเลขที่ ๕๗ ถนนแสงฉ่ำอุทิศตำบลหมากแข้ง ซึ่งเป็นเหตุให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุดรธานีปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยดังกล่าวนั้นแล้วปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือที่ อ.ด.๑๙/๔๔๙๗, อ.ด.๑๙/๓๗๘๐ ทะเบียนบ้านเลขที่ ๕๗ ท้ายฟ้อง ซึ่งก็ปรากฏข้อความตามหนังสือที่ อ.ด.๑๙/๓๗๘๐ ว่าจำเลยได้สั่งถอนสัญชาติไทยของโจทก์ทั้ง ๗ คนจริง ส่วนหนังสือที่ อ.ด.๑๙/๔๔๙๗ ก็เป็นคำสั่งของจำเลยถึงนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุดรธานีให้ดำเนินการแก้ไขทะเบียนบ้านและหลักฐานอื่น ๆ ของโจทก์ตามสำเนาหนังสือที่ อ.ด.๑๙/๓๗๘๐ ซึ่งก็ปรากฏตามทะเบียนบ้านเลขที่ ๕๗ นั้นว่า นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุดรธานีได้ดำเนินการถอนชื่อโจทก์และสัญชาติของโจทก์ในทะเบียนบ้านดังกล่าวโดยอ้างคำสั่งของจำเลยตามหนังสือที่ อ.ด.๑๙/๔๔๙๗ ดังนั้นจึงเป็นที่เห็นได้ว่าคำสั่งของจำเลยตามหนังสือที่ อ.ด.๑๙/๔๔๙๗ และที่ อ.ด.๑๙/๓๗๘๐ ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้ง ๗ คนโดยตรง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามหนังสือดังกล่าวนั้นได้ โดยหาจำต้องไปดำเนินการตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร์เสียก่อนดังจำเลยฎีกาไม่
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้ง ๗ คนถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ข้อ ๑(๓) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยได้นั้นปรากฏว่าประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ มีข้อความว่า ข้อ ๑ ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(๑)………..
(๒)……….
(๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
ศาลฎีกาเห็นว่าบุคคลที่จะต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ข้อ ๑(๓) ดังกล่าวนั้นได้แก่บุคคล ๒ ประเภทคือ
๑. บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจากบิดาที่เป็นคนต่างด้าว และบิดานั้นเป็นคนต่างด้าวผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือ
๒. บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจากมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏว่าที่ชอบด้วยกฎหมาย และมารดานั้นเป็นคนต่างด้าวผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
คดีนี้ข้อเท็จจริงรับกันว่าบิดาโจทก์คือนายหวู เตียนแค้ง เป็นคนต่างด้าวผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองและมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวโดยชอบด้วยกฎหมายส่วนมารดาโจทก์แม้ข้อเท็จจริงจะรับกันว่ามารดาโจทก์เป็นคนต่างด้าวอพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่ข้อเท็จจริงก็รับกันว่าบิดาและมารดาโจทก์จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายที่อำเภอเมืองหนองคาย เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๙๔ และโจทก์ทั้ง ๗ คนเกิดในประเทศไทยหลังจากนั้นนายหวู เตียนแค้ง จึงเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์เกิดจากมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ โจทก์ทั้ง ๓ คนจึงไม่ใช่บุคคลประเภทหนึ่งประเภทใดที่จะต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๑(๓) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ก็เข้าใจเช่นนี้ดังที่ปรากฏตามสรุปข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยข้อ ๙ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท.๐๓๑๓/ว.๗๙๓ ลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๐ ท้ายฟ้ง เมื่อเป็นเช่นนี้คำสั่งของจำเลยที่ให้ถอนสัญชาติไทยของโจทก์ทั้ง ๔ คน จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ข้อ ๑(๓) ซึ่งมีผลให้คำสั่งจากจำเลยที่สั่งให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุดรธานีดำเนินการแก้ไขทะเบียนบ้านเลขที่ ๕๗ เกี่ยวกับเรื่องการถอนสัญชาติไทยของโจทก์ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share