คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3026/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยในส่วนที่เป็นการประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา889หาใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียวไม่ซึ่งตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัยดังนั้นแม้โจทก์จะได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน50,000บาทให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปโจทก์ก็หามีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเพื่อฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุคันหมายเลขทะเบียน 80-6707 อุดรธานี แล่นสวนมาด้วยความประมาทโดยขับด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถบังคับรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถของตนเองได้ รถเสียหลักล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถของรถคันที่โจทก์รับประกันภัยเป็นเหตุให้ชนกับรถคันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย นายอุดมถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าปลงศพนายอุดมเป็นเงิน 50,000 บาทตามหน้าที่ความรับผิดชอบให้แก่ผู้เอาประกันภัย โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิตามกฎหมายในอันที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนถึงวันฟ้องจากจำเลยทั้งสองได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 52,691 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า สัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยสูญเสียชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 โจทก์ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิเรียกค่าปลงศพที่จ่ายแก่ผู้เอาประกันภัย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุคันหมายเลขทะเบียน ม-3532 ขอนแก่นซึ่งเป็นรถยนต์ของบริษัทสังกะสีไทย จำกัด ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์อีซูซุหมายเลขทะเบียน 80-6707 อุดรธานี และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2535 เวลาประมาณ 7 นาฬิกา รถยนต์ดังกล่าวทั้งสองคันชนกันเป็นเหตุให้นายอุดมหรือศุภสิทธิ์ เชิดสุริยาลูกจ้างของบริษัทสังกะสีไทย จำกัด ผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตายโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นค่าปลงศพนายอุดมหรือศุภสิทธิ์เป็นเงิน 50,000 บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 ในส่วนที่เป็นการประกันอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 หาใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียวดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ซึ่งตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ดังนั้น แม้โจทก์จะได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปโจทก์ก็หามีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเพื่อฟ้องร้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share