คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2338/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัท อ. ทำสัญญากับโจทก์รวม 3 ฉบับโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันสัญญาทั้ง 3 ฉบับระหว่างโจทก์และบริษัท อ.มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการผลประโยชน์ตอบแทนซึ่งกันและกันโดยบริษัท อ. ต้องการเก็บกำไรจากการซื้อหุ้น แต่บริษัท อ.ไม่มีเงินจึงขอเบิกเงินจากโจทก์ทำนองเบิกเงินเกินบัญชีเพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นแต่ถ้าโจทก์จ่ายเงินให้บริษัท อ. ไปซื้อหุ้นด้วยตนเองแล้วโจทก์จะไม่มีหลักประกัน โจทก์จึงทำหน้าที่ซื้อหุ้นตามคำสั่งของบริษัท อ. เพื่อยึดใบหุ้นเป็นหลักประกันและตีราคามูลค่าหุ้นที่ยึดไว้เป็นหลักประกันเพียงร้อยละ 75 ส่วนอีกร้อยละ 25 บริษัท อ. ต้องเอาเงินมาฝากเข้าบัญชีกับโจทก์ และถ้าหุ้นมีมูลค่าลดลงต่ำกว่าร้อยละ 75 บริษัท อ. ต้องเพิ่มเงินฝากเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 25 เพื่อให้โจทก์มีหลักประกันเต็มจำนวนร้อย ผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับตามสัญญาคือได้ดอกเบี้ยและค่าชักส่วนลดจากยอดเงินที่บริษัท อ. เป็นหนี้โจทก์ส่วนบริษัท อ. มีเงินเพียงร้อยละ 25 ก็สามารถซื้อหุ้นมีมูลค่าเต็มจำนวนร้อยเพื่อหวังเก็บกำไรได้ การที่โจทก์ซื้อหุ้นแทนบริษัท อ. นั้น. เป็นเพียงข้อตกลงส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์เท่านั้นไม่อาจแยกออกเป็นเอกเทศได้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกหนี้ที่บริษัท อ. เป็นหนี้ตามสัญญาดังกล่าว จึงไม่เข้าลักษณะเอกเทศสัญญาในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปีตามมาตรา 164(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2524)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๐๒ ธนาคารโจทก์ตกลงเปิดสินเชื่อโดยวิธีเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน ๒๕๐,๐๐๐ เหรียญอเมริกันให้แก่บริษัท แอม – ยูเรเซีย อินเวสต์เมนท์ ฟันด์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศไลบีเรีย และมีสาขาในประเทศไทย จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท ได้ลงนามทำสัญญาตามเงื่อนไขต่าง ๆปรากฏตามท้ายฟ้องหมาย ๓, ๔, ๕ จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวไว้กับธนาคารโจทก์ โดยยอมรับใช้แทนในฐานะลูกหนี้ร่วม และยอมให้ธนาคารโจทก์ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ได้เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๐๕ จำเลยที่ ๒ ทำหนังสือค้ำประกันบริษัทแอม – ยูเรเซียฯ และจำเลยที่ ๑ สำหรับหนี้สินดังกล่าวต่อโจทก์ภายในวงเงิน ๕๐,๐๐๐ เหรียญอเมริกัน โดยยอมผูกพันตนเช่นเดียวกับจำเลยที่ ๑ โจทก์และบริษัทแอม – ยูเรเซียฯ ได้ปฏิบัติต่อกันตามสัญญาตลอดมาจนถึงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๐๖ ปรากฏว่าบริษัทแอม – ยูเรเซียฯยังเป็นหนี้ธนาคารโจทก์ ๒๖,๐๐๓ เหรียญอเมริกัน โจทก์ทวงถาม บริษัทแอม – ยูเรเซียฯ โดยจำเลยที่ ๑ ได้นำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้ธนาคารโจทก์เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๖ จำนวน ๕,๐๐๐ เหรียญอเมริกัน วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๐๖ ชำระอีก ๕,๐๐๐ เหรียญอเมริกัน หลังจากนั้นไม่ชำระเลยคงค้างต้นเงินและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวม ๒๘,๒๓๔ เหรียญอเมริกันอัตราแลกเปลี่ยน ๑ เหรียญอเมริกันต่อ ๒๑ บาท เป็นเงินทั้งสิ้น ๕๙๒,๙๑๔ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันใช้เงินจำนวน ๕๙๒,๙๑๔บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๖ ต่อปี ตามวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นของธนาคารและหักค่าส่วนลด เศษ ๑ ส่วน ๘ ทุก ๓ เดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ได้ลงนามในเอกสารท้ายฟ้องหมาย ๓, ๔, ๕ จริงจำเลยมิได้ประกันหนี้ดังฟ้อง บริษัทแอม – ยูเรเซียฯ ไม่ได้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์ โจทก์กระทำผิดหน้าที่ตามสัญญา หากบริษัทแอม -ยูเรเซียฯ จะต้องรับผิด ก็รับผิดในฐานะตัวการตัวแทน โจทก์ฟ้องเกิน ๒ ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เมื่อหนี้อันเป็นประธานขาดอายุความฟ้องร้อง จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิด การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลโดยเป็นการขัดต่อข้อตกลงตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย ๕ ซึ่งบังคับให้ฟ้องที่ศาลประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลโดยเป็นการขัดต่อข้อตกลงในเอกสารท้ายฟ้องหมาย ๕ จำเลยค้ำประกันเฉพาะนายวิลลิส เอช. เบิร์ดและหรือบริษัทอเมอเรเซียอินเวสต์เมนท์ ทรัส จำกัด ไม่ได้ค้ำประกันนายวิลลิส เอช. เบิร์ดและหรือบริษัทแอม – ยูเรเซียฯ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ได้ ๑ ปาก แล้วสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยวินิจฉัยว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลไทยขัดต่อข้อตกลงตามเอกสารหมาย ๕ ข้อ ๗ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่และวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมบริษัทแอม – ยูเรเซียฯ เป็นลูกหนี้โจทก์โดยเบิกเงินเกินบัญชี จำนวน ๑๔,๐๑๘.๕๕ เหรียญอเมริกัน จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวด้วยจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิด คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะเป็นเรื่องบัญชีเดินสะพัด ไม่ใช่เรื่องตัวการตัวแทน พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๑๔,๐๑๘.๕๕ เหรียญอเมริกัน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ๖ ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๐๖ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ ๑ จะชำระเป็นเงินไทยให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ชำระ
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิด
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ตามเอกสารหมาย จ.๓, จ.๔ และจ.๕ (ตรงกับเอกสารท้ายฟ้องหมาย ๓, ๔, ๕ ตามลำดับ) ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ลงชื่อไว้เป็นสำคัญ นั้น เอกสารหมาย จ.๓ ข้อ ๑ ระบุว่า โจทก์ให้บริษัทแอม – ยูเรเซียฯ เบิกเงินเกินบัญชีได้เพื่อเป็นทุนซื้อหุ้นชั้นหนึ่งของอเมริกา ซึ่งมีการขานราคาไว้ในตลาดหุ้นแห่งนิวยอร์คข้อ ๒ ระบุว่า ในการเบิกเงินเกินบัญชีรายนี้จะต้องมีการค้ำประกันโดยใช้หลักทรัพย์ทั้งหลายซึ่งโจทก์ซื้อไว้เพื่อบัญชีของบริษัทแอม -ยูเรเซียฯ บริษัทแอม – ยูเรเซียฯ จะต้องมีเงินอยู่ในบัญชีเสมอไปเป็นจำนวน (ร้อยละ ๒๕) ซึ่งสัมพันธ์กับร้อยละ ๗๕ ของมูลค่าแห่งหลักทรัพย์ที่ได้นำฝากไว้กับโจทก์ในนามของบริษัทหากมูลค่าดังกล่าวเกิดลดลง บริษัทจะต้องส่งเงินให้โจทก์ทันทีที่โจทก์เรียกร้องเป็นจำนวนเท่าที่จำเป็นจะทำให้โจทก์มีจำนวนเผื่อเหลือเผื่อขาดอยู่ร้อยละ ๒๕ เสมอไป ข้อ ๓ ระบุว่าเรื่องดอกเบี้ยร้อยละ ๕ ครึ่งต่อปี(ต่อมาเปลี่ยนเป็นร้อยละ ๖) และค่าชักส่วนลดร้อยละ เศษ ๑ ส่วน ๘ของยอดลูกหนี้จำนวนสูงสุดทุก ๆ ๓ เดือน เอกสารหมาย จ.๔ว่าด้วยเรื่องหลักประกันและการโอนสิทธิ เอกสารหมาย จ.๕ ข้อ ๑, ๒, ๕และ ๙ ระบุว่า โจทก์จะทำการปิดบัญชีทุก ๆ ระยะ ๓ เดือน ๖ เดือนหรือเมื่อครบรอบปี โดยจะทำการคิดดอกเบี้ยให้ตามที่ตกลงกันเอาไว้หากจะมีกรณีคัดค้านหรือแสดงความไม่เห็นชอบกับงบดุลหรือรายการเงินฝากแต่ละยอดบัญชี เจ้าของบัญชีจะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบภายในเวลาไม่เกิน ๔ สัปดาห์ โจทก์ทรงไว้ซึ่งสิทธิทุกเวลาหรือตามแต่จะเห็นสมควรในอันที่จะเห็นสมควรในอันที่จะบอกเลิกการติดต่อทางธุรกิจกับลูกค้า หรือปฏิเสธการให้สินเชื่อและเรียกร้องให้ใช้เงินคืนกับโจทก์ทันที โจทก์ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการที่จะหักบัญชีและเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่จะเห็นสมควร ฯลฯ
ปัญหามีว่า สัญญาระหว่างโจทก์และบริษัทแอม – ยูเรเซียฯตามเอกสารหมาย จ.๓, จ.๔ และ จ.๕ เป็นสัญญาตัวการตัวแทนโดยโจทก์เป็นตัวแทนทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลกิจการของบริษัทแอม – ยูเรเซียฯ ในการซื้อขายหุ้นดังจำเลยที่ ๑ ฎีกาหรือไม่
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า วัตถุประสงค์ในการที่โจทก์และบริษัทแอม – ยูเรเซียฯ ทำสัญญาเอกสารหมาย จ.๓, จ.๔,จ.๕ ก็โดยทั้งสองฝ่ายต้องการผลประโยชน์ตอบแทนซึ่งกันและกันกล่าวคือ บริษัทต้องการเก็งกำไรจากการซื้อหุ้นชั้นหนึ่งของอเมริกาซึ่งมีการขานราคาไว้ในตลาดค้าหุ้นแห่งนิวยอร์ค แต่บริษัทไม่มีเงินจึงขอเบิกเงินจากโจทก์ทำนองเบิกเงินเกินบัญชีในสัญญาบัญชีเดินสะพัดเพื่อนำเงินไปซื้อหุ้น แต่ถ้าโจทก์จ่ายเงินให้บริษัทไปซื้อหุ้นด้วยตนเองแล้ว โจทก์จะไม่มีหลักประกัน โจทก์จึงทำหน้าที่ซื้อหุ้นเสียเองตามคำสั่งของบริษัท เพื่อจะยึดใบหุ้นนั้นเป็นหลักประกัน เมื่อซื้อหุ้นแล้ว หุ้นมีมูลค่าสูงขึ้น โจทก์ก็ไม่เสียหายแต่ถ้าหุ้นมีมูลค่าลดลงโจทก์ย่อมเสียหาย โจทก์จึงตีราคามูลค่าของหุ้นไว้เพียงร้อยละ ๗๕ ส่วนอีกร้อยละ ๒๕ บริษัทต้องเอาเงินมาฝากในบัญชีกับโจทก์เป็นการเผื่อเหลือเผื่อขาดให้โจทก์มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเต็มจำนวนร้อย ผลประโยชน์ที่บริษัทได้รับก็คือมีเงินเพียงร้อยละ ๒๕ ของมูลค่าหุ้นที่จะซื้อ ก็สามารถที่จะซื้อหุ้นมีมูลค่าเต็มจำนวนร้อยเพื่อหวังเก็งกำไรได้ ส่วนโจทก์ได้รับผลประโยชน์ คือ ได้ดอกเบี้ยร้อยละ ๕ ครึ่งต่อปี (ต่อมาเปลี่ยนเป็นร้อยละ ๖) และค่าชักส่วนลดร้อยละ เศษ ๑ ส่วน ๘ จากยอดเงินที่บริษัทเป็นหนี้ แม้การที่โจทก์ซื้อหุ้นแทนบริษัทจะมีลักษณะเป็นตัวการตัวแทน แต่ก็เป็นเพียงข้อตกลงส่วนหนึ่งของสัญญาตามเอกสารหมาย จ.๓ จ.๔ และ จ.๕ ระหว่างโจทก์และบริษัท เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์เท่านั้น ไม่อาจแบ่งแยกออกเป็นเอกเทศได้ ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่โจทก์เป็นตัวแทนทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลกิจการของบริษัทแอม – ยูเรเซียฯในการซื้อขายหุ้นดังที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาโต้แย้ง และไม่เข้าลักษณะเอกเทศสัญญาในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๓๖๙ ซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ว่า คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share