แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่ง และอัตราเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดิมและนับอายุการทำงานติดต่อกันแล้วก็ตาม หากจำเลยยังค้างชำระค่าจ้างโจทก์ระหว่างเลิกจ้างอยู่อีก โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยให้ชำระค่าจ้างที่ค้างชำระได้ กรณีไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้โดยไม่ต้องย้อนไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อีก
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในสำนวนแรก 7,965 บาท 6,615 บาท 6,895 บาท และโจทก์สำนวนหลัง 6,615 บาท คำขออื่นให้ยก จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “เดิมโจทก์ทั้งสี่เคยยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า จำเลยกระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ทั้งสี่ โดยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ซึ่งได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องต่อจำเลย และเป็นการเลิกจ้างในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ขอให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงานตามเดิม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาแล้วชี้ขาดว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและมีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดิม เสมือนหนึ่งมิได้มีการเลิกจ้าง จำเลยจึงฟ้องคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องจำเลย (โจทก์ในคดีดังกล่าว) จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน ถึงแม้จำเลยจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โดยรับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดิม และนับอายุการทำงานติดต่อกันแล้วก็ตาม แต่ในคดีดังกล่าวไม่มีข้อพิพาทกันเกี่ยวกับค่าจ้างของโจทก์ทั้งสี่ระหว่างที่จำเลยเลิกจ้าง จึงไม่เป็นการตัดสิทธิที่โจทก์ทั้งสี่จะฟ้องเรียกร้องค่าจ้างดังกล่าว และถือไม่ได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์ทั้งสี่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ส่วนปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยถูกต้องแล้ว ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ควรจะไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อดำเนินคดีกับจำเลยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 126, 127, 158 ไม่ใช่มาฟ้องศาล และอำนาจตามมาตรา 41(4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เป็นอำนาจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยเฉพาะ ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจอาศัยมาตรานี้สั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง (ค่าเสียหาย) แก่โจทก์นั้นเห็นว่า กรณีตามฟ้องโจทก์ทั้งสี่มิใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับจำเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หากเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรม เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จึงเป็นที่เห็นได้ว่า การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียหายโดยไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างที่ถูกเลิกจ้าง โจทก์ทั้งสี่จึงชอบที่จะได้รับค่าเสียหาย และฟ้องเรียกร้องต่อศาลแรงงานกลางได้โดยไม่ต้องย้อนไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อีก”
พิพากษายืน