แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาจ้างไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าภาษีมูลค่าเพิ่มรวมไว้กับราคาค่าจ้าง ทั้งจำนวนเงินค่าจ้างตามสัญญาก็ตรงกับใบเสนอราคา โดยใบเสนอราคามีข้อสังเกตระบุว่า ราคานี้ไม่รวมภาษี จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีข้อตกลงให้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในจำนวนเงินค่าจ้างด้วย
ในส่วนงานว่าจ้างตกแต่งเพิ่มเติมอาคารสำนักงานใหญ่ งานติดตั้งโคมไฟฟ้า และตกแต่งอาคารสำนักงานที่จังหวัดเชียงใหม่ จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งจำเลยหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ร้อยละ 3 หากมีข้อตกลงให้ภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ในค่าจ้างด้วย จำเลยก็น่าจะแยกค่าภาษีมูลค่าเพิ่มออกต่างหากจากจำนวนเงินที่จะนำมาคำนวณเพื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังกล่าว ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่จัดทำและออกใบกำกับภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีขาย ส่วนจำเลยก็มิได้เรียกเอาใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์เป็นหลักฐานนำไปใช้เป็นภาษีซื้อ แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 82 บัญญัติให้ผู้ประกอบการเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มาตรา 82/4 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 2,548,385.92 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,548,385.92 บาท ให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำนวนเงินค่าจ้างตามที่โจทก์จำเลยตกลงกันได้รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าด้วยแล้วหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจะรวมไว้ในสัญญาจ้างทำของด้วยหรือไม่ ต้องพิจารณาจากเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญา ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี เป็นเอกสารเท็จที่ทำขึ้นเพื่อให้หลงเชื่อว่าโจทก์ได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่จำเลยโดยชอบแล้ว เมื่อค่าภาษีมูลค่าเพิ่มรวมเข้าไว้ในค่าบริการด้วยแล้ว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแยกจากค่าบริการให้แก่โจทก์อีก ส่วนงานว่าจ้างตกแต่งอาคารสำนักงานที่จังหวัดเชียงใหม่ มูลค่า 1,073,512 บาท นั้น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แสดงรายละเอียดการรับเงินซึ่งโจทก์ได้รับเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว ทั้งใบสำคัญการจ่ายเงินของจำเลยได้แยกราคาค่าบริการออกจากค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างชัดเจน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลย ซึ่งระบุชัดแจ้งว่าได้ผ่านการเจรจาต่อรองแล้วนั้น ไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าคู่สัญญาตกลงกันให้นำภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมไว้กับราคาค่าจ้าง 31,250,000 บาท ทั้งจำนวนเงินค่าจ้างตามสัญญาดังกล่าวก็ตรงกับใบเสนอราคา โดยใบเสนอราคาดังกล่าวมีข้อสังเกตระบุไว้ว่า ราคานี้ไม่รวมภาษี หากจำเลยมีเจตนาให้จำนวนเงินค่าจ้างรวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ด้วย อันเป็นข้อแตกต่างไปจากที่ปรากฏในใบเสนอราคาในส่วนสาระสำคัญ ก็น่าจะต้องระบุไว้ให้ชัดแจ้งในสัญญาจ้าง ดังนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าสัญญาจ้างมีข้อตกลงให้รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในจำนวนเงินค่าจ้างด้วย การที่โจทก์เคยออกใบแจ้งหนี้ โดยไม่ได้เรียกเก็บค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นเพียงโจทก์มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/4 ในส่วนงานว่าจ้างให้ตกแต่งเพิ่มเติมอาคารสำนักงานใหญ่ มูลค่าจำนวน 4,049,441 บาท ว่าจ้างติดตั้งโคมไฟฟ้า จำนวน 32,560 บาท และว่าจ้างตกแต่งอาคารสำนักงานที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,073,512 บาท นั้น จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ หักภาษีและนำส่งไว้เป็นจำนวน 121,483.23 บาท จำนวน 976.80 บาท และจำนวน 32,205.36 บาท ตามลำดับ ซึ่งเป็นการคำนวณหักภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของเงินค่าจ้างทั้งจำนวน หากมีข้อตกลงให้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ในค่าจ้างด้วย จำเลยก็น่าจะต้องแยกค่าภาษีมูลค่าเพิ่มออกต่างหากจากจำนวนเงินที่จะนำมาคำนวณเพื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าว ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่จัดทำและออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเรียกเก็บภาษีขาย ส่วนจำเลยก็มิได้เรียกเอาใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์เป็นหลักฐานนำไปใช้เป็นภาษีซื้อ กรณีมิใช่ว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนารวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นส่วนหนึ่งของราคาค่าจ้างดังที่จำเลยอ้าง แม้ประมวลรัษฎากร มาตรา 82 บัญญัติให้ผู้ประกอบการเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มาตรา 82/4 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เมื่อโจทก์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยผู้ว่าจ้างโจทก์ได้ จำเลยในฐานะผู้รับบริการมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ