แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้เหตุคดีนี้เกิดขึ้นในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม ซึ่งมีร้อยตำรวจโท อ. เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 ส่วนพันตำรวจตรี ต. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย เข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ ก็สืบเนื่องมาจากพลตำรวจตรี ว. ผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ออกคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนศูนย์สอบสวนคดีพิเศษประจำกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 โดยให้พันตำรวจตรี ต. ปฏิบัติราชการที่ศูนย์สอบสวนคดีเด็ก สตรี และคดีพิเศษ เพื่อให้การสอบสวนเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหมายของทางราชการ ซึ่งเป็นคำสั่งภายในหน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น พันตำรวจตรี ต. ผู้ได้รับมอบหมายตามคำสั่งดังกล่าวจึงมีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้
ตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยที่ 1 แบ่งเป็น 3 กรรม คือ ครั้งแรกประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ครั้งที่ 2 ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2550 และครั้งที่ 3 ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2550 ซึ่งครอบคลุมช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2550 อยู่ด้วยในตัว ประกอบกับจำเลยที่ 1 ก็เบิกความว่าจำเลยที่ 1 รับผู้เสียหายมาอยู่ด้วยในช่วงเวลาดังกล่าวจริง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาแตกต่างไปจากที่โจทก์บรรยายในฟ้องในข้อสาระสำคัญอันเป็นเหตุให้ต้องยกฟ้องโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 285, 391
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285 กระทงหนึ่ง กับมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285, 391, 83 อีกกระทงหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานข่มขืนกระทำชำเรา สืบสันดาน ซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำคุก 9 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ กับฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้สืบสันดาน ซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285, 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 9 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 18 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง, 391 ประกอบมาตรา 83 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 7 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถอนฎีกาได้ ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เด็กหญิง ส. ผู้เสียหายเกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2541 เป็นบุตรของ น. กับ ต. ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นตาของผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 เป็นภริยาคนใหม่ของจำเลยที่ 1 ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง น. พาผู้เสียหายไปฝากให้จำเลยทั้งสองดูแล เมื่อผู้เสียหายกลับมาได้เล่าให้ ป. ซึ่งมีศักดิ์เป็นยายของผู้เสียหายฟังว่า จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายหลายครั้ง ต่อมา ป. พาผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่มให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า หลังจากวันเด็กประมาณ 2 สัปดาห์ ขณะผู้เสียหายนั่งดูโทรทัศน์ภายในห้องที่บ้านของจำเลยที่ 1 จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย เมื่อเสร็จแล้วจำเลยที่ 1 พูดข่มขู่ผู้เสียหายไม่ให้ไปบอกใคร หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราเสียหายอีกหลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายผู้เสียหายเห็นจำเลยทั้งสองกำลังร่วมเพศกันโดยบังเอิญ เมื่อจำเลยทั้งสองทราบว่าผู้เสียหายเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จะเข้าข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายขัดขืน จำเลยที่ 2 บอกให้จำเลยที่ 1 ต่อยท้องผู้เสียหาย แล้วจำเลยที่ 1 ก็ต่อยท้องและตบหน้าผู้เสียหาย ผู้เสียหายร้องขอความช่วยเหลือ จำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่าทำมันเลย แล้วจำเลยที่ 1 ก็ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ทั้งโจทก์มี ป. และ ช. อดีตภริยาของจำเลยที่ 1 และเป็นยายของผู้เสียหายมาเบิกความว่า ผู้เสียหายจึงเล่าเรื่องที่ถูกจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราให้ฟัง วันที่ 30 มีนาคม 2550 ป. และ ช. พาผู้เสียหายไปตรวจที่โรงพยาบาลสินแพทย์ แต่โรงพยาบาลดังกล่าวแจ้งว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคดี ให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลตำรวจ ต่อมาเวลาประมาณ 8 ถึง 9 นาฬิกา ป. และ ช. จึงพาผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่มให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อยตำรวจโทอังครนาวิน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่มมาเบิกความสนับสนุนว่า วันที่ 30 มีนาคม 2550 เวลาก่อนเที่ยงวัน ป.กับพี่สาวซึ่งพยานจำชื่อไม่ได้ พาผู้เสียหายมาแจ้งความว่า ผู้เสียหายถูกตาของผู้เสียหายล่วงละเมิดทางเพศ พยานสอบถามผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมพูดอะไร เนื่องจากมีท่าทางกลัว พยานจึงส่งผู้เสียหายไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลตำรวจ ต่อมาเวลา 1 นาฬิกา ของวันที่ 31 มีนาคม 2550 ป. กับพี่สาวมาพบพยานที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม แจ้งว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตาของผู้เสียหายข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย เห็นว่า พยานโจทก์ทุกปากเบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันไม่มีข้อพิรุธ โดยเฉพาะผู้เสียหายเป็นหลานของจำเลยที่ 1 เรียนหนังสือที่โรงเรียนคลองกุ่มผลการเรียนค่อนข้างดี ไม่ปรากฏความประพฤติที่เสียหาย ทั้งได้ความจากพันตำรวจตรีปิยพงษ์ แพทย์สถาบันนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ วันที่ 30 มีนาคม 2550 เวลา 18.30 นาฬิกา พยานตรวจร่างกายผู้เสียหาย ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลจึงสนับสนุนให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ยิ่งขึ้นว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เหตุคดีนี้ เกิดขึ้นที่บริเวณแฟลตข้าราชการข้างสำนักงานเขตบึงกุ่มแฟลต 1 ชั้น 2 ห้อง 107/201 ถนนเสรีไทย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร และจำเลยทั้งสองมีที่อยู่และถูกจับในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม จึงอยู่ในอำนาจการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม แต่คดีนี้พนักงานสอบสวนที่ทำการสอบสวนและรับผิดชอบในคดีคือพันตำรวจตรีไตรพงษ์ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้เหตุคดีนี้เกิดขึ้นในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม ซึ่งมีร้อยตำรวจโทอังครนาวินเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 ส่วนพันตำรวจตรีไตรพงษ์พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย เข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ก็สืบเนื่องมาจากพลตำรวจตรีวิทยา ผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ออกคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ที่ 171/2549 เรื่อง แต่งตั้งพนักงานสอบสวนศูนย์สอบสวนคดีพิเศษประจำกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 โดยให้พันตำรวจตรีไตรพงษ์ปฏิบัติราชการที่ศูนย์สอบสวนคดีเด็ก สตรี และคดีพิเศษ ประจำกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 เพื่อให้การสอบสวนเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหมายของทางราชการ ซึ่งเป็นคำสั่งภายในหน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น พันตำรวจตรีไตรพงษ์ผู้ได้รับมอบหมายตามคำสั่งดังกล่าวจึงมีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ผู้เสียหายเบิกความว่าวันเกิดเหตุหลังวันเด็กประมาณ 2 สัปดาห์ จำวันที่ไม่ได้ เวลาประมาณ 7 นาฬิกาแตกต่างจากที่ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวน ว่า เหตุเกิดประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เวลา 22 นาฬิกา เป็นพิรุธนั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุเพียง 8 ปีเศษ จะเกณฑ์ให้ผู้เสียหายจดจำเรื่องราวที่ซับซ้อนและสามารถเบิกความได้เหมือนเช่นผู้ใหญ่คงเป็นไปได้ยาก ทั้งผู้เสียหายมาเบิกความ หลังเกิดเหตุแล้วถึง 1 ปีเศษ คำเบิกความของผู้เสียหายเกี่ยวกับวันเวลาเกิดเหตุจึงย่อมคลาดเคลื่อนไปได้บ้างอย่างไรก็ตามผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ขณะที่ผู้เสียหายมาอยู่ที่บ้านจำเลยที่ 1 นั้น ปิดเทอมแล้ว คือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ส่วนที่ผู้เสียหายเบิกความว่า เหตุเกิดเวลา 7 นาฬิกา ก็ได้ความตามที่ผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ในวันที่ผู้เสียหายไปบ้านจำเลยที่ 1 และดูโทรทัศน์กับจำเลยที่ 1 เป็นเวลาดึกแล้ว ละครหลังข่าวยังไม่จบ แสดงว่า เวลาประมาณ 7 นาฬิกา ที่ผู้เสียหายเบิกความตอบโจทก์นั้น หมายถึงเวลากลางคืน ไม่ใช่เวลาเช้า จึงหาใช่ข้อพิรุธไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า น. มารดาของผู้เสียหายเบิกความว่าพยานให้ผู้เสียหายไปพักอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2550 จึงไม่ตรงกับวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้น เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยที่ 1 แบ่งเป็น 3 กรรม คือ ครั้งแรกประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ครั้งที่ 2 ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2550 และครั้งที่ 3 ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2550 ซึ่งครอบคลุมช่วงระยะเวลา ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2550 อยู่ด้วยในตัว ประกอบกับจำเลยที่ 1 ก็เบิกความว่า จำเลยที่ 1 รับผู้เสียหายมาอยู่ด้วยในช่วงเวลาดังกล่าวจริง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาแตกต่างไปจากที่โจทก์บรรยายในฟ้องในข้อสาระสำคัญ อันเป็นเหตุให้ต้องยกฟ้องโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน