คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 37/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การนำสืบข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง แม้จะมีหนังสือของเจ้าของที่ดินระบุว่าที่พิพาทเป็นทางเดินมาก่อนนานแล้ว ก็เป็นเพียงพยานหลักฐานอย่างหนึ่งซึ่งอาจนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นได้
จำเลยทำหนังสือยินยอมว่ายอมให้โจทก์ใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้โดยไม่ขอรับค่าตอบแทนใดๆและบุคคลคนหนึ่งเป็นผู้นำหนังสือนั้นมาให้โจทก์ยึดถือไว้ ก็มีผลเป็นแต่เพียงให้โจทก์มีสิทธิเดินตามทางพิพาทได้โดยไม่เป็นละเมิด แต่โจทก์ไม่มีสิทธิยกเอาความยินยอมนั้นผูกพันจำเลยตลอดไป จำเลยอาจเลิกไม่ให้ใช้เดินเสียเมื่อไรก็ได้(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1084/2507)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดที่ 820 ของจำเลยเป็นทางภารจำยอมและทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ ทั้งร้อยเอกอาภรณ์ยังนำหนังสือยินยอมของจำเลยให้โจทก์ใช้ทางเดินนี้ได้มาให้โจทก์ไว้ ขอให้บังคับจำเลยเปิดทางและจดทะเบียนภารจำยอม กับใช้ค่าเสียหาย

จำเลยต่อสู้ว่า ที่ดินโฉนดที่ 820 ไม่เคยเป็นทางเดิน โจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว และภารจำยอมสิ้นไปเพราะการไม่ใช้หนังสือที่จำเลยทำนั้นเพื่อช่วยเหลือมิให้ร้อยเอกอาภรณ์ ถูกฟ้องคดีอาญา เป็นโมฆะ และจำเลยจะยกเลิกเสียเมื่อไรก็ได้

ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์หมดแล้ว จำเลยจะขอสืบพยานว่าที่ดินโฉนดที่ 820 ไม่ตกอยู่ภายใต้ภารจำยอม ไม่เคยมีการใช้เป็นทางเดินมาก่อน และหลังไฟไหม้เมื่อ พ.ศ. 2490 ก็ไม่มีการใช้เป็นทางเดิน กับจะสืบแก้การทำหนังสือให้ความยินยอมท้ายฟ้องว่า ทำขึ้นโดยมิได้มีเจตนาที่จะให้โจทก์และบริวารได้ใช้ทางนี้ ที่ทำขึ้นก็เพื่อจะระงับคดีที่โจทก์จะฟ้องคดีอาญาร้อยเอกอาภรณ์กับพวกเป็นเอกสารที่จำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียวมอบให้ร้อยเอกอาภรณ์กับพวกโดยมิได้มีนิติสัมพันธ์โดยตรงกับโจทก์ โจทก์แถลงว่า ประเด็นค่าเสียหายไม่ติดใจเรียกร้อง ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน โดยเห็นว่าหนังสือให้ความยินยอมนั้นเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ บังคับกันได้พิพากษาให้จำเลยเปิดทางเดินในที่ดินโฉนดที่ 820 กับให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมให้แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ดำเนินการพิจารณาสืบพยานจำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้ไม่จำเป็นต้องสืบพยานต่อไป เพราะ

1. หนังสือยินยอมของจำเลยตามสำเนาท้ายฟ้อง มีข้อความระบุชัดแล้วว่าโฉนดเลขที่ 820 เป็นทางเดินมาก่อนนานแล้ว จะสืบแก้ไขเป็นอย่างอื่นไม่ได้

ศาลฎีกาเห็นว่า ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 คู่ความอาจสืบพยานบุคคลได้ ข้อความในหนังสือยินยอมนั้นมีผลเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งด้วยเท่านั้น

2. เมื่อจำเลยทำหนังสือให้ความยินยอมแก่โจทก์แล้ว โจทก์ฟ้องบังคับตามหนังสือยินยอมได้ หนังสือยินยอมนั้นมีความว่า จำเลยยินยอมให้โจทก์และบริวารใช้ที่ดินโฉนดที่ 820 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนบ้านดอนได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยจำเลยไม่ขอรับค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น หนังสือยินยอมนี้ตามฟ้องโจทก์กล่าว่าร้อยเอกอาภรณ์เอาจากจำเลยมาให้โจทก์ยึดถือไว้ จึงมีผลเป็นแต่เพียงให้โจทก์มีสิทธิเดินตามทางพิพาทได้โดยไม่เป็นละเมิด แต่โจทก์ไม่มีสิทธิยกเอาความยินยอมนั้นผูกพันจำเลยตลอดไป จำเลยอาจเลิกไม่ให้ใช้เดินเมื่อไรก็ได้ ดังนัยคำพิพากษาฎีกา ที่ 1084/2507

3. โจทก์ฎีกาว่า โดยสภาพที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อม จึงเป็นทางจำเป็น ข้อนี้จำเลยต่อสู้ว่า ที่ดินของโจทก์มีทางอื่นออก ซึ่งศาลชั้นต้นยังหาได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไม่

เหตุดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องให้ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่

พิพากษายืน

Share