คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9317/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเรือประมงของกลางว่าเป็นยานพาหนะในการหลบหนีแก่บุคคลต่างด้าว ดังนั้นเรือประมงของกลางจึงเป็นเพียงยานพาหนะในการหลบหนีเท่านั้น มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า เรือประมงของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง เพราะหากไม่มีเรือประมงของกลาง การนำและพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรทางทะเลย่อมไม่อาจทำได้นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้อง จึงไม่อาจรับฟังได้ส่วนความผิดฐานให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม โดยให้คนต่างด้าวเข้าอยู่และหลบซ่อนอยู่ในเรือนั้น ก็คงฟังได้เพียงว่าเรือเป็นสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง จึงไม่อาจริบได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 11, 63, 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 และริบเรือของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง, 64 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 88,000 บาท ฐานซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 44,000 บาท รวมจำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 132,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 66,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 สำหรับเรือประมงของกลางไม่ปรากฏว่ามีการดัดแปลงเรือให้มีลักษณะพิเศษสำหรับซุกซ่อนคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรแต่อย่างใด มิใช่เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง จึงเห็นสมควรไม่ริบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าเรือประมงของกลางเป็นทรัพย์ที่ต้องริบหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) นั้น มีความมุ่งหมายให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดนั้นๆ โดยตรง คือ ทรัพย์นั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย สำหรับคดีนี้ในความผิดฐานนำและพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเรือประมงของกลางว่าเป็นยานพาหนะในการหลบหนีแก่บุคคลต่างด้าว ดังนั้นเรือประมงของกลางจึงเป็นเพียงยานพาหนะในการหลบหนีเท่านั้น มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า เรือประมงของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง เพราะหากไม่มีเรือประมงของกลาง การนำและพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรทางทะเลย่อมไม่อาจทำได้นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้อง จึงไม่อาจรับฟังได้ ส่วนความผิดฐานให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม โดยให้คนต่างด้าวเข้าอยู่และหลบซ่อนอยู่ในเรือนั้น ก็คงฟังได้เพียงว่าเรือเป็นสถานที่เกิดเหตุเท่านั้นมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง จึงไม่อาจริบได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share