คำวินิจฉัยที่ 25/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๕/๒๕๔๘

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดหนองคาย

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๔ นายวิเชียร มหาเสนา ที่ ๑ นายอุเทน มหาเสนา ที่ ๒ นายบัณฑิต สมรูป ที่ ๓ นายฉลวย สีหราช ที่ ๔ นายหอม เคนรักษา ที่ ๕ นายวิเชียร แสนวัง ที่ ๖ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๑ กระทรวงสาธารณสุข ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ที่ ๓ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย สาขาท่าบ่อ ที่ ๔ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๒๙๑/๒๕๔๔ ความว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้ยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๓๕ หมู่ ๘ ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เนื้อที่ ๒๐ ไร่ มีนายเสาว์ คำเมืองคุณ เป็นผู้แจ้งการครอบครอง โดยซื้อมาจากผู้แจ้งการครอบครองเมื่อปี ๒๕๓๒ ที่ดินดังกล่าวมีผู้ครอบครองและทำประโยชน์ร่วมกันอยู่รวม ๓ คน คือ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๔ และที่ ๕ ได้ที่ดินมาด้วยการตกทอดทางมรดกมีเอกสารสิทธิคือ น.ส. ๓ และ น.ส. ๓ ก โดยได้ครอบครองเนื้อที่ ๗ ไร่เศษ และ ๖ ไร่เศษ ตามลำดับ ที่ดินทั้งสองแปลงตั้งอยู่ต่อเนื่องจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ฟ้องคดีที่ ๖ ถือครอง และทำประโยชน์ในที่ดินเนื้อที่ ๙ ไร่เศษ มีหลักฐานการชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท. ๖ ) มีชื่อ นางผึ้ง ทาสีดำ ครอบครองและทำประโยชน์ร่วมกันจนถึงปัจจุบัน ที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกและราษฎรอื่นครอบครองตั้งอยู่ในบริเวณที่ดินพิพาทจำนวนประมาณ ๑๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ ชื่อ “โคกใหญ่” และเป็นที่ดินที่ทางราชการสงวนไว้เพื่อก่อสร้างและรองรับการขยายตัวของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อในอนาคต และอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้ประชุมและทำบันทึกตกลงกันว่า ถ้าผู้ฟ้องคดีทั้งหกและราษฎรข้างเคียงซึ่งครอบครองที่ดินพิพาทที่มีหลักฐาน ส.ค. ๑ มาโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกต้องด้วยประการอื่นด้วยแล้ว ทางราชการจะเสนอซื้อจากผู้ครอบครองต่อไป หรือถ้าครอบครองที่ดินมาโดยสุจริตและทำประโยชน์ด้วยตนเองมาโดยตลอดแล้วก็จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนตามหลักเกณฑ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กำหนด แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๓ และ ที่ ๔ มิได้ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแต่อย่างใด ที่ดินสาธารณประโยชน์โคกใหญ่ เป็นที่ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกครอบครองและราษฎรอื่นอยู่อาศัยเต็มพื้นที่ ไม่เหมาะสมที่จะทำการปฏิรูป ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เคยเข้าไปสำรวจ และไม่เคยทำการพิสูจน์สิทธิในที่ดินตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ได้นำที่ดินสาธารณประโยชน์โคกใหญ่ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกครอบครองทำประโยชน์ มาดำเนินการปฏิรูปที่ดินโดยอนุญาตให้เป็นสถานที่ก่อสร้างและรองรับการขยายตัวของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อในอนาคต และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งจำหน่าย ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๓๕ หมู่ ๘ ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ออกจากทะเบียนครอบครองที่ดิน ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เดือดร้อนเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง ดังนี้
๑. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก
๒. ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกยังคงมีสิทธิถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่ครอบครองต่อไป
๓. ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกครอบครอง
๔. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ อันเนื่องมาจากทรัพย์สินพืชเกษตรกรรมเสียหาย จำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท และชำระแก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๓ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทางราชการได้สงวนหวงห้ามที่ดินไว้เพื่อประโยชน์เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๗๗ และขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี ๒๔๘๒ ราษฎรได้เลิกใช้ประโยชน์แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่ดังกล่าวได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเมื่อปี ๒๕๓๑ และอยู่ในอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่จะเข้าดำเนินการตามกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ว่า อำนาจในการพิจารณานำที่ดินซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินหรือไม่ประสงค์จะนำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ตามมาตรา ๑๙ ประกอบมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๒ ในการดำเนินการปฏิรูปที่ดินดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้วางแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงว่าพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ โดยผ่านขั้นตอนการพิจารณาของสภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอและจังหวัดตามลำดับ ที่ดินพิพาทสภาตำบลท่าบ่อได้มีมติยกเลิกใช้เป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากไม่มีสัตว์พาหนะของราษฎรมาเลี้ยงและพื้นผิวเป็นดินลูกรัง ไม่ควรนำไปปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเนื่องจากราษฎรและหน่วยงานราชการได้ใช้ประโยชน์ทั้งแปลง อำเภอท่าบ่อเห็นชอบตามมติสภาตำบลท่าบ่อในข้อที่ให้เลิกใช้เป็นที่สาธารณประโยชน์ คณะกรรมการการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีมติเห็นชอบให้นำที่ดินสาธารณประโยชน์โคกใหญ่ จำนวน ๑๘๐๙ ไร่ ๑ งาน ๐๕ ตารางวา ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และอนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ใช้ที่ดินพิพาทจำนวน ๔๗ ไร่ ๑ งาน ๒๐ ตารางวา เพื่อรองรับการขยายตัวของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ แต่ที่ดินพิพาทมีผู้บุกรุก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงฟ้องผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดหนองคาย คดีหมายเลขดำที่ ๑๕๖/๒๕๔๓ และศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก ๑ ปี คำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกออกจากที่ดินพิพาทและคำสั่งจำหน่าย ส.ค. ๑ ออกจากทะเบียนครอบครองที่ดินของผู้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ได้รับอนุญาตให้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทจำนวน ๔๗ ไร่ ๑ งาน ๒๐ ตารางวา โดยถูกต้องตามกฎหมาย มีสิทธินำป้ายเหล็กไปปักเพื่อแสดงสิทธิตามกฎหมาย และมิได้นำรถไถไปทำลายทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ตามที่กล่าวอ้าง เพราะในขณะนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังไม่ได้อนุญาตให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงมิต้องรับผิดในค่าเสียหายจำนวน ๓๕๐,๐๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ให้การโดยยื่นคำแถลงต่อศาลขอให้ถือเอาคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นคำให้การ เนื่องจากถูกฟ้องในคดีเดียวกัน มีส่วนเกี่ยวข้องกันหลายประเด็น ที่ดินดังกล่าวนำไปปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ เนื่องจากมีราษฎรทำสวน ปลูกบ้าน บ่อปลา บ่อน้ำสาธารณะ ดังนั้น มติที่ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำที่ดินสาธารณประโยชน์โคกใหญ่ไปดำเนินการเพื่อเกษตรกรรมจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นก่อนว่าที่ดินพิพาทที่ได้ถูกเพิกถอนที่สาธารณประโยชน์แล้วอยู่ในความดูแลครอบครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งหกอ้างว่า ที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๓๕ หมู่ ๘ ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เป็นของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กรณีจึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งหกอ้างว่า มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๓๕ หมู่ที่ ๘ ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เนื้อที่ ๒๐ ไร่ ซึ่งการนำที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกครอบครองตามหลักฐาน ส.ค. ๑ ดังกล่าวไปปฏิรูปที่ดินโดยอ้างว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและนำที่ดินพิพาทไปจัดให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกฟ้องขอให้ตนมีสิทธิถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งตนได้ครอบครองและทำประโยชน์ตลอดจนประเด็นต่อเนื่องกับข้อพิพาทดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทที่นำมาปฏิรูปนั้น เป็นที่ดินประเภทใด เป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินหรือไม่ และหากเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ผู้ฟ้องคดีทั้งหกหรือโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ ผู้ใดมีคุณสมบัติอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๕ จะพิจารณาในการปฏิรูปที่ดินถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งหกประสงค์ให้ศาลตรวจสอบว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าที่กระทำต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหกหรือไม่ จึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดหนองคายพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลเหตุที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกดำเนินคดีแก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งเพิกถอน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๓๕ ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเดิมอยู่ในเขตบริเวณที่สาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกใหญ่ ซึ่งได้ประกาศหวงห้ามตั้งแต่ปี ๒๔๗๑ ก่อนที่จะมีการแจ้งออก ส.ค. ๑ ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และขับไล่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกออกจากที่พิพาทโดยเห็นว่าผู้ฟ้องคดีทั้งหกครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอเมืองอุดรธานี ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินการปฏิรูปที่ดินในที่ดินพิพาทซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกและไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินอีก นั้น เห็นว่า คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งหก แสดงถึงเจตนาที่จะได้ที่ดินพิพาทเป็นของตนเองตามที่อ้างว่ามีสิทธิครอบครอง การวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีทั้งหกมีสิทธิครอบครองในที่พิพาทตามที่อ้าง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ มีอำนาจหน้าที่ในการออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกหรือไม่ จำเป็นต้องพิสูจน์การครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้งหกเสียก่อน ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกอ้างว่าฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีนำที่ดินพิพาทไปจัดให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ เป็นการกระทำไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งหกนำข้อพิพาททางแพ่งและอาญาเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดหนองคายไปฟ้องที่ศาลอื่น โดยเนื้อหาสาระในข้อที่จะต้องวินิจฉัยในประเด็นหลักไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้งหก ซึ่งจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องคดีนี้ สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดิน ที่ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ตาม ส.ค. ๑ น.ส. ๓ น.ส. ๓ ก. และเอกสารการชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท. ๖) ที่ดินดังกล่าวอยู่ในบริเวณที่สาธารณประโยชน์ “โคกใหญ่” ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ นำที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวรวมทั้งที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งหกไปดำเนินการปฏิรูป โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เคยเข้าไปสำรวจและทำการพิสูจน์สิทธิในที่ดินตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินแต่อย่างใด และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งจำหน่าย ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๓๕ ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ออกจากทะเบียนครอบครองที่ดิน ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยกอุทธรณ์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก ให้ยังคงมีสิทธิถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่ครอบครองต่อไป ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดิน และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากทรัพย์สินพืชเกษตรกรรมเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ และที่ ๕ ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทางราชการได้สงวนหวงห้ามที่ดินไว้ เพื่อประโยชน์เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ ต่อมาราษฎรเลิกใช้ประโยชน์แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่ดังกล่าวได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเมื่อปี ๒๕๓๑ และอยู่ในอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่จะเข้าดำเนินการตามกฎหมาย ในการดำเนินการปฏิรูปที่ดินดังกล่าวได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ที่ดินพิพาทมีผู้บุกรุก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงฟ้องผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดหนองคาย และศาลในคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก ๑ ปี คำสั่งจำหน่าย ส.ค. ๑ ออกจากทะเบียนครอบครองที่ดินของผู้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น ตามคำฟ้องคดีนี้จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก ยื่นคำฟ้องต่อศาลขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้รับรองหรือคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตน ทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้ายื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่พลเมืองใช้ร่วมกัน แต่เลิกใช้แล้ว จึงจะนำมาปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรมนั้น ศาลจำต้องพิจารณาในปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไปได้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นายวิเชียร มหาเสนา ที่ ๑ นายอุเทน มหาเสนา ที่ ๒ นายบัณฑิต สมรูป ที่ ๓ นายฉลวย สีหราช ที่ ๔ นายหอม เคนรักษา ที่ ๕ นายวิเชียร แสนวัง ที่ ๖ ผู้ฟ้องคดี สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๑ กระทรวงสาธารณสุข ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ที่ ๓ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย สาขาท่าบ่อ ที่ ๔ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share