คำวินิจฉัยที่ 26/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๖/๒๕๔๘

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘

เรื่อง คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒

คำพิพากษาศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ระหว่าง
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ
นายชุลี ธรรมวิศาล ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒

ข้อเท็จจริงในคดี
นายชุลี ธรรมวิศาล ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๘ ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีนายชุลี ธรรมวิศาล ข้าราชการครู ตำแหน่งอาจารย์ ๒ ระดับ ๗ โรงเรียนเกาะสมุย กรมสามัญศึกษา (ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ได้รับคำสั่งของสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ ๑๙๘/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๒ ให้ออกจากราชการตามโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเกษียณอายุก่อนกำหนด รุ่นที่ ๑ ในขณะที่รับราชการชดใช้ทุนยังไม่ครบ ซึ่งกรมสามัญศึกษา โจทก์ ได้ยื่นฟ้องนายชุลี ธรรมวิศาลและผู้ค้ำประกัน รวม ๗ คน จำเลย ให้ชดใช้ทุนและเบี้ยปรับตามสัญญาให้ข้าราชการลาไปศึกษาต่อภายในประเทศภาคปกติ จำนวน ๑,๕๖๕,๔๗๔.๖๙ บาท และให้ชำระดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีของต้นเงิน จำนวน ๑,๔๕๓,๒๐๐.๐๖ บาท และศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีคำพิพากษาให้จำเลยกับพวกร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง (คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๘๑๙/๒๕๔๔ หมายเลขแดงที่ ๓๙๒/๒๕๔๕) ซึ่งนายชุลี ธรรมวิศาลเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีขัดแย้งกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.๒๘๖/๒๕๔๗ หมายเลขแดงที่ อ.๑๑๓/๒๕๔๗ ระหว่างนายชุลี ธรรมวิศาล ผู้ฟ้องคดี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กรมสามัญศึกษา เดิม) ผู้ถูกฟ้องคดี กรณีศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตาม คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ ๑๙๘/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๒ เฉพาะส่วนของผู้ฟ้องคดีโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากเงื่อนไขของโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเกษียณอายุก่อนกำหนด รุ่นที่ ๑ ไม่ได้กำหนดว่าการลาออกจะต้องชดใช้ทุนตามสัญญาลาศึกษาต่อ ทำให้ผู้ฟ้องคดีสำคัญผิดในคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการอันเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ถูกฟ้องคดีได้พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีคุณสมบัติตามโครงการที่กำหนดไว้ อีกทั้งเมื่อคณะกรรมการโครงการพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้ข้าราชการตามบัญชีรายชื่อที่ผู้ถูกฟ้องคดี จัดทำเสนอมาทุกรายที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาก่อนที่ผู้มีอำนาจอนุญาตการลาออกจะมีคำสั่งอนุญาตให้ลาออก ให้ส่วนราชการดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของคุณสมบัติของผู้ได้รับความเห็นชอบให้ลาออกจากราชการตามโครงการอีกครั้งหนึ่งก่อนออกคำสั่งและเร่งรัดดำเนินการออกคำสั่งให้ข้าราชการผู้ขอลาออกตามโครงการโดยเร็วที่สุด ภายในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๒ หากมีข้าราชการตามโครงการประสงค์จะอยู่รับราชการต่อไปให้แจ้งให้ผู้นั้นแจ้งขอระงับการเข้าร่วมโครงการเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้บังคับบัญชาพร้อมสำเนาให้คณะกรรมการโครงการทราบก่อนวันที่การลาออกจากราชการจะมีผล ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้แจ้งให้สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานีทราบและดำเนินการต่อไป แต่สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานีมิได้แจ้งผู้ฟ้องคดีหรือผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกรายอื่น ๆ ทราบแต่อย่างใด และผู้ฟ้องคดี ก็มิเคยได้รับแจ้งเรื่องการชดใช้ทุนก่อนที่จะมีคำสั่งให้ออกจากราชการ จึงทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่มีโอกาสที่จะทบทวนการตัดสินใจของตนเองอีกครั้งหนึ่ง การที่สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาในระดับถัดไปของผู้ฟ้องคดีมิได้ดำเนินการแจ้งเรื่องต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานั้น เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งให้ออกจากราชการดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นายชุลี ธรรมวิศาลจึงขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สั่งให้นายชุลีและผู้ค้ำประกันชำระเงินดังกล่าวโดยได้ผ่อนชำระไปบางส่วนแล้ว ทั้งที่ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาแล้วว่าคำสั่งให้ออกจากราชการเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้คืนตำแหน่งและเงินใด ๆ ที่เรียกเก็บไป โดยได้ส่งเรื่องให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต ๑ ได้แก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนด้วยแล้ว จึงขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต ๑ ได้ทำคำชี้แจงว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต ๑ ได้ออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ ๑๙๘/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๒ เรื่องอนุญาตให้ข้าราชการครูออกจากราชการตามโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิต : เกษียณก่อนกำหนด เฉพาะส่วนของผู้ฟ้องคดี และสั่งให้นายชุลี ธรรมวิศาล กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมโดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ตามคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต ๑ ที่ ๖๖/๒๕๔๘ เรื่องให้ข้าราชการกลับเข้ารับราชการ ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ส่วนเงินค่าปรับกรณีผิดสัญญาลาศึกษาต่อที่นายชุลีและผู้ค้ำประกันได้ชำระเงินตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปบางส่วนแล้วและนายชุลีขอคืนนั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต ๑ อยู่ระหว่างดำเนินการหารือกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการ ขณะนี้ (วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ) นายชุลี คงค้างชำระ จำนวน ๕๔๐,๗๐๘.๔๘ บาท

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คู่ความที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองสูงสุด
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้ามีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความขัดแย้งในเรื่องฐานะหรือความสามารถของบุคคล คู่ความ หรือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงตามคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ออกภายหลังถึงที่สุด…”
กรณีนี้โจทก์และผู้ฟ้องคดีได้นำคดีขึ้นสู่ศาลสองศาล คือศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งเป็นศาลยุติธรรม และศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นศาลปกครอง โดยทั้งสองศาลมีมูลความแห่งคดีมาจากคำสั่งสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ ๑๙๘/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๒ เรื่อง อนุญาตให้ข้าราชการครูออกจากราชการ ตามโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิต : เกษียณก่อนกำหนด จึงเป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา ๑๔ เมื่อศาลยุติธรรมตัดสินให้นายชุลีและผู้ค้ำประกัน จำเลยต้องร่วมกันรับผิดฐานผิดสัญญาใช้ทุน และศาลปกครองตัดสินให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ ๑๙๘/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๒ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคำพิพากษาของทั้งสองศาลนั้นถึงที่สุดแล้วย่อมเป็นเหตุให้คู่ความไม่อาจบังคับหรือปฏิบัติการชำระหนี้ได้ถูกต้อง ถือได้ว่าเป็นกรณีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ชอบที่คู่ความจะยื่นคำร้องขอให้มีการวินิจฉัยตามมาตรานี้ได้ แม้ว่าผู้ฟ้องคดีจะยื่นคำร้องเมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลปกครองซึ่งพิพากษาภายหลังถึงที่สุด แต่กำหนดเวลาดังกล่าวหาใช่อายุความที่จะต้องฟ้องคดีภายในกำหนด เมื่อปรากฏว่าคู่ความยังคงได้รับการเยียวยาความเสียหายไม่เสร็จสิ้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลสมควรรับคำร้องของนายชุลี ธรรมวิศาล ตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๔
คำพิพากษาในคดีของทั้งสองศาลวินิจฉัยต่างกัน โดยศาลยุติธรรมวินิจฉัยว่า นายชุลี ธรรมวิศาล จำเลย ลาออกจากราชการตามโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิต : เกษียณก่อนกำหนดในขณะที่รับราชการใช้ทุนลาไปศึกษาต่อยังไม่ครบ อันเป็นการผิดสัญญาพิพากษาให้นายชุลีและผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑,๕๖๕,๔๗๔.๖๙ บาท และให้ชำระดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน จำนวน ๑,๔๕๓,๒๐๐.๐๖ บาท ส่วนศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าคำสั่งสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ ๑๙๘/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๒ ที่ให้นายชุลีออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากกระทำการไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ และพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว จึงต้องพิจารณาว่าคู่ความต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลใด ซึ่งตามมาตรา ๑๔ วรรคสอง บัญญัติให้พิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรมและความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล แล้วให้กำหนดแนวทางการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าว
การที่ศาลปกครองได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งให้ออกจากราชการตามโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิต : เกษียณก่อนกำหนดเฉพาะส่วนของนายชุลี โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งสืบเนื่องมาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต ๑ (สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี เดิม)ไม่แจ้งเรื่องการชดใช้ทุนก่อนที่จะมีคำสั่งให้ออกจากราชการ ทำให้นายชุลีไม่มีโอกาสที่จะทบทวนการตัดสินใจของตนเองอีกครั้งหนึ่ง โดยถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำ นั้น เมื่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต ๑ ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยเพิกถอนคำสั่งสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ ๑๙๘/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๒ เรื่องอนุญาตให้ข้าราชการครูออกจากราชการตามโครงการ เปลี่ยนเส้นทางชีวิต : เกษียณก่อนกำหนดเฉพาะส่วนของนายชุลี และสั่งให้นายชุลี กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมโดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ตามคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต ๑ ที่ ๖๖/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ แล้วนั้น กรณีจึงถือได้ว่านายชุลีได้กลับเข้ารับราชการเพื่อชดใช้ทุนลาศึกษาต่อแล้วด้วย ดังนั้น คำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่ให้นายชุลีและผู้ค้ำประกันร่วมกันชดใช้ค่าปรับฐานผิดสัญญาใช้ทุนอันเนื่องมาจากนายชุลีลาออกจากราชการตามโครงการดังกล่าวในขณะรับราชการใช้ทุนยังไม่ครบ โดยนายชุลีและผู้ค้ำประกัน ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาไปแล้วบางส่วน จึงไม่อาจบังคับคดีต่อไปได้ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องคืนเงินที่ได้รับชำระไปแล้วแก่นายชุลีและผู้ค้ำประกันด้วย
ฉะนั้น เมื่อคำนึงถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรมและความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว จึงสมควรให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยมิให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี และให้คืนเงินที่ได้รับชำระทั้งหมดให้แก่นายชุลีและผู้ค้ำประกันต่อไป
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดขัดแย้งกัน ระหว่าง ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีและศาลปกครองสูงสุด ให้คู่ความปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยมิให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี และให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานคืนเงินที่ได้รับชำระทั้งหมดให้แก่นายชุลีและผู้ค้ำประกันต่อไป

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share