คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6814/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นเห็นว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ไม่ผิดสัญญา และสัญญายังไม่เลิกกัน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยึดรถยนต์คืน ให้จำเลยที่ 1 คืนรถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์ ให้โจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างพร้อม ดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ แต่จำเลยทั้งสามทิ้งอุทธรณ์ คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์กับพวกรวม 3 คน เป็นจำเลยในมูลคดีเดียวกันนี้ กล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ กล่าวคือ ขอให้โจทก์คืนรถยนต์แก่จำเลยที่ 1 ผลคดีถึงที่สุดโดย ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์กับพวกคืนรถยนต์ หากคืนไม่ได้ ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เมื่อคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นคดีนี้ขัดกับคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข การชำระหนี้ของโจทก์ไม่ได้เป็นไปตามกำหนดตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเข้าครอบครองรถยนต์พิพาทได้โดยชอบ กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง โดยถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ต่อไป และพิพากษากลับให้ยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้ทรัพย์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 382,000 บาท และค่าเสื่อมสภาพของรถยนต์ 70,200 บาท รวมเป็นเงิน 452,200 บาท กับค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวในสภาพเรียบร้อยหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 750,000 บาท พร้อมสมุดคู่มือประจำรถกับชุดโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนทะเบียนและส่งมอบรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 81 – 9844 นครราชสีมา แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยพร้อมกับโจทก์ชำระราคาที่เหลือเป็นเงิน 359,052 บาท แก่จำเลยที่ 1 ด้วย หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ดังกล่าว ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 650,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกัน ใช้ค่าเสียหายจำนวน 21,852 บาท และค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 1,821 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 20 ธันวาคม 2538) จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว มีปัญหาว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดรถยนต์ดังกล่าวคืนจากโจทก์หรือไม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ไม่ผิดสัญญา และสัญญายังไม่ยกเลิกกัน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยึดรถยนต์ดังกล่าวคืน ให้จำเลยที่ 1 คืนรถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์ ให้โจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้าง 145,710 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ แต่จำเลยทั้งสามไม่นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์มาชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสามทิ้งอุทธรณ์ ให้จำหน่ายคดีเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามออกจากสารบบความ คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของโจทก์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์กับพวกรวม 3 คน เป็นจำเลยในมูลคดีเดียวกันนี้ กล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ กล่าวคืน ขอให้โจทก์คืนรถยนต์แก่จำเลยที่ 1 ผลคดีถึงที่สุด โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์กับพวกคืนรถยนต์ หากคืนไม่ได้ ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5591/2543 คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่าสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ไม่ผิดสัญญา และสัญญายังไม่เลิกกัน จึงขัดกับคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวที่ว่าสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข การชำระหนี้ของโจทก์ไม่ได้เป็นไปตามกำหนด ดังนั้น ตามสัญญาข้อ 9 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเข้าครอบครองรถยนต์พิพาทได้โดยชอบ เมื่อกรณีเป็นดังนี้ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 วรรคหนึ่ง โดยถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share