แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาค้ำประกันและจำนองเป็นประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกลงค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสอง บัญญัติว่า หนี้ในอนาคตก็ประกันได้ และมาตรา 707 บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนองอนุโลมตามควร ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันไว้ก่อนที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ครั้งที่ 3 จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินครั้งที่ 3 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๔,๔๗๖,๕๗๘.๔๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๒๑ ต่อปี จากต้นเงิน ๓,๘๗๕,๐๓๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๗๙ พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๔,๔๐๗,๘๒๖.๙๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี จากต้นเงิน ๓,๘๗๕,๐๓๑ บาท นับตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดจำนวน ๒,๗๔๒,๕๕๙.๘๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๗๙ พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า การที่จำเลยที่ ๑ กู้ยืมเงินจากโจทก์ในครั้งที่ ๓ นั้น จำเลยที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ เห็นว่า ในวันเดียวกับที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ฉบับแรก จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในฐานะลูกหนี้ร่วม และทำหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งในสัญญาจำนองข้อ ๑ มีข้อความระบุว่าจำเลยที่ ๒ ตกลงจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลงแก่โจทก์ เพื่อเป็นประกันหนี้สินทุกชนิดของจำเลยทั้งสองที่มีต่อโจทก์ทั้งในเวลานี้และต่อไปในภายหน้าทั้งสิ้น เป็นจำนวนเงิน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท และในหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกัน ก็ระบุว่าจำเลยที่ ๒ ตกลงจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่จะมีขึ้นอีกในภายหน้าทั้งสิ้นแก่โจทก์ และโจทก์ตกลงรับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้ เพื่อเป็นประกันหนี้สินทุกชนิดทุกประเภทที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์อยู่ในเวลานี้และในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้าเป็นเงินจำนวน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ในวันเดียวกับที่จำเลยที่ ๑ ทำบันทึกข้อตกลงอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้น จำเลยที่ ๒ ยังทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในฐานะลูกหนี้ร่วมด้วย ซึ่งในสัญญาค้ำประกันมีข้อความระบุว่า ตามที่โจทก์ได้ให้จำเลยที่ ๑ กู้ยืมเงินไปจากโจทก์หรือได้นำตั๋วเงินซึ่งสั่งจ่ายโดยจำเลยที่ ๑ เองหรือสั่งจ่ายโดยบุคคลอื่นใดก็ตามไปขายลดหรือแลกเงินสดไปจากโจทก์เป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นหนี้โจทก์อยู่ในเวลานี้และในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้าในจำนวนเงิน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท ดังนี้ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันดังกล่าวนั้นค้ำประกันรวมถึงหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ ๑ ด้วย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๘๑ วรรคสอง บัญญัติว่าหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้ และมาตรา ๗๐๗ บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา ๖๘๑ ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร ดังนั้น แม้ว่าสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ทำไว้ก่อน แต่ก็สามารถค้ำประกันหนี้การกู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานในอนาคตได้ จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินครั้งที่ ๓ ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๔,๔๐๗,๘๒๖.๙๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี จากต้นเงิน ๓,๘๗๕,๐๓๑ บาท นับตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.