แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ธนาคาร ก. ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ ฯ มาตรา 14 เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ยืมที่ธนาคาร ก. ทำกับจำเลยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และประกาศธนาคาร ก. เรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดให้สินเชื่อ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสินทรัพย์หนี้สินรายจำเลยมาและคิดดอกเบี้ยตามประกาศทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวที่ธนาคาร ก. มีสิทธิเรียกจากลูกค้าได้ในขณะทำสัญญานั้นจึงเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ ฯ มาตรา 14 เป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ มาตรา 3 (ก) การกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินดังกล่าวร้อยละ 19 ต่อปี จึงเป็นโมฆะแม้ตามความเป็นจริงธนาคาร ก. จะคิดดอกเบี้ยภายในกรอบของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคาร ก. ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่อาจทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะกลับกลายเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนผิดนัด แต่เมื่อเป็นหนี้เงินโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
เมื่อจำเลยเป็นเพียงลูกค้าของธนาคาร ก. ที่ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และจำเลยผ่อนชำระหนี้ให้แก่ธนาคารดังกล่าวตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินแล้วธนาคาร ก. นำเงินไปจัดการหักชำระหนี้ต่าง ๆ ตามจำนวนหนี้ที่ธนาคารคิดคำนวณขึ้นมาเองนั้น กรณีไม่อาจถือว่าจำเลยชำระดอกเบี้ยอันตกเป็นโมฆะตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 ที่ศาลชั้นต้นนำเงินที่จำเลยชำระดอกเบี้ยซึ่งตกเป็นโมฆะไปหักชำระหนี้ต้นเงินจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 200,739.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี ของต้นเงิน 92,185.36 บาท นับถัดจากวันฟ้องแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนองโฉนดที่ 9051 พร้อมสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งยึดอายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 25,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 9051 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) มาตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 รวมทั้งหนี้ที่จำเลยทั้งสองในคดีนี้มีอยู่แก่ธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2537 จำเลยที่ 1 กู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สาขาสตูล จำนวน 150,000 บาท และตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และยินยอมให้ธนาคารเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยใหม่ได้ตามแต่ธนาคารจะเห็นสมควร โดยไม่จำต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบก่อน แต่ไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจำเลยที่ 1 ตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าเดือนละ 3,700 บาท และจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2542 มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และเพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดที่ 9051 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 150,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้ส่วนที่ขาดอยู่จนครบ และธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้โอนสิทธิจำนองดังกล่าวแก่โจทก์ หลังจากโจทก์ได้รับโอนสินทรัพย์หนี้สินของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่เคยชำระหนี้แก่โจทก์ มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า แม้ตามสัญญากู้เงินระหว่างธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) กับจำเลยที่ 1 ระบุอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าประกาศของธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ทำให้ข้อสัญญาเกี่ยวกับดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ แต่ในทางปฏิบัติตามความเป็นจริงธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้เรียกเก็บและเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยภายในกรอบประกาศของธนาคาร การคิดดอกเบี้ยจึงไม่ขัดต่อกฎหมายและมีผลบังคับกันได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ยืมที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับธนาคารดังกล่าว ระบุผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ทำสัญญานี้เป็นต้นไป และอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนดในสัญญาดังกล่าวเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และประกาศธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดให้สินเชื่อ โจทก์คิดดอกเบี้ยตามประกาศทั้งสองเรื่องดังกล่าว ที่ธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) มีสิทธิเรียกจากลูกค้าได้ในขณะทำสัญญานั้น จึงเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ซึ่งเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) การกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินดังกล่าวร้อยละ 19 ต่อปี จึงเป็นโมฆะ แม้ตามความเป็นจริงธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จะคิดดอกเบี้ยภายในกรอบของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่อาจทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะกลับกลายเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ในสัญญากู้เงินเป็นโมฆะชอบแล้ว เมื่อข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะย่อมไม่มีผลบังคับให้จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และเป็นกรณีที่สัญญากู้เงินมิได้มีกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสินทรัพย์หนี้สินรายนี้มา เมื่อเป็นหนี้เงินโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 7 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการต่อมาว่า จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะด้วยความสมัครใจ จึงไม่อาจนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแล้วไปหักจากต้นเงินที่จำเลยทั้งสองค้างชำระตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ที่ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ได้นำเงินไปผ่อนชำระหนี้ให้แก่ธนาคารดังกล่าวตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินแม้จะเป็นการชำระด้วยความสมัครใจแต่ก็ไม่อาจถือว่าเป็นการชำระดอกเบี้ยอันตกเป็นโมฆะตามอำเภอใจ เหมือนหนึ่งว่าชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ที่ศาลชั้นต้นนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยซึ่งตกเป็นโมฆะไปหักชำระหนี้ต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดจึงชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ