แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามสัญญาซื้อขายระบุว่าในวันทำสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 1ได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 มาวางไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา หลักประกันนี้โจทก์จะคืนให้เมื่อจำเลยที่ 1 พ้นจากข้อผูกพันตามสัญญา ดังนั้น หนังสือค้ำประกันจึงเป็นหลักประกันที่จำเลยที่ 1 นำมาวางไว้เผื่อความเสียหายในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขาย โจทก์จึงมีสิทธิเพียงเรียกให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1รับผิดชำระเงินตามจำนวนในหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์ด้วยนั้นไม่ถูกต้อง
สัญญาซื้อขายมีข้อตกลงที่ยินยอมให้โจทก์ปรับจำเลยที่ 1เป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่โจทก์ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญา และในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ต้องถูกปรับเป็นรายวันนั้น ถ้าโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและคงปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยได้กรณีมิใช่เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้วจะไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าปรับ
ความรับผิดของโจทก์ที่จะต้องชำระราคายางแอสฟัลต์ให้แก่จำเลยที่ 1 กับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องชำระค่าปรับและค่าเสียหายให้แก่โจทก์เกิดจากสัญญาซื้อขายรายเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างผูกพันในหนี้อันเดียวกัน ดังนั้นที่โจทก์ขอหักราคายางแอสฟัลต์ที่ส่งมอบบางส่วนออกจากค่าปรับและค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิด จึงไม่ใช่เรื่องหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 วรรคหนึ่งแต่เพื่อความสะดวกแก่การบังคับตามคำพิพากษา จึงหักหนี้กันเสียโดยให้มีผลนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวน ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินในสำนวนแรก 3,497,363.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 3,234,197.53 บาท นับถัดจากวันฟ้องสำนวนแรกจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินในสำนวนแรก 154,692.13บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 139,050 บาทนับถัดจากวันฟ้องสำนวนแรกจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินในสำนวนหลัง 6,923,757.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องสำนวนหลัง (วันที่ 24มีนาคม 2536) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในวงเงิน 295,661 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องสำนวนหลังจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนให้การและฟ้องแย้งทั้งสองสำนวนเป็นใจความ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน ให้โจทก์ในสำนวนแรกชำระเงิน299,469.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4มีนาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 ดอกเบี้ยคิดถึงวันให้การและฟ้องแย้งคดีสำนวนแรกเป็นเงิน 47,135.69 บาท ให้โจทก์ในสำนวนหลังชำระเงิน 130,985 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 29 กันยายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ แก่จำเลยที่ 1 ดอกเบี้ยคิดถึงวันให้การและฟ้องแย้งสำนวนหลังเป็นเงิน 19,889.98 บาท
จำเลยที่ 2 ทั้งสองสำนวนให้การเป็นใจความ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ในสำนวนแรกและสำนวนหลังให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,662,832.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,216,629 บาท นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2536 ในต้นเงิน 3,622,832.50 บาท นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในวงเงิน 434,711 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 139,050 บาท นับแต่วันที่ 12มกราคม 2535 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2536 ในต้นเงิน 434,711 บาทนับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสองสำนวนและจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน1,216,629.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 12 มกราคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์สำนวนแรก และให้ชำระเงิน 2,406,203.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 24มีนาคม 2536) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์สำนวนหลัง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองสำนวนและจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าสำนวนแรก เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายยางแอสฟัลต์ อีมัลชั่น จำนวน 360.1 เมตริกตัน เป็นเงิน2,780,981.10 บาท ให้แก่โจทก์ โดยสัญญาจะส่งมอบ ณ สถานที่ส่งมอบตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาภายในวันที่ 31 ธันวาคม2532 ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 โดยจำเลยที่ 1 นำหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันเป็นเงินไม่เกิน139,050 บาท มาวางเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 สำนวนหลังเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม2532 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายยางแอสฟัลต์ อีมัลชั่น จำนวน 769.3 เมตริกตัน เป็นเงิน 5,913,215.50 บาท ให้แก่โจทก์ โดยสัญญาจะส่งมอบ ณ สถานที่ส่งมอบตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาภายในวันที่ 28 มกราคม 2533 ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมายจ.22 จำเลยที่ 1 นำหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันเป็นเงินไม่เกิน 295,661 บาท มาวางเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมายจ.23 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบยางแอสฟัลต์ตามสัญญาซื้อขายฉบับแรกให้แก่โจทก์ ส่วนสัญญาซื้อขายฉบับหลังจำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลต์ให้แก่โจทก์เพียง 17 เมตริกตัน เป็นเงิน 130,985 บาท โจทก์บอกเลิกสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2534 และวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2534 ตามลำดับ ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.7 และ จ.27 โจทก์ดำเนินการประกวดราคาซื้อยางแอสฟัลต์ตามสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับใหม่ บริษัททิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด เป็นผู้ประมูลได้เป็นเงิน 3,558,561 บาท และ 7,392,773 บาท ตามลำดับสูงกว่าราคาที่กำหนดในสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับเป็นเงิน 777,579.90 บาท และ 1,610,542.50 บาท ตามลำดับ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายยางแอสฟัลต์และส่งมอบยางแอสฟัลต์ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 299,469.70 บาท แต่ยังไม่ได้รับเงินจากโจทก์
ปัญหาข้อแรกเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่ายางแอสฟัลต์ที่จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบให้แก่โจทก์เป็นยางแอสฟัลต์ที่จำเลยที่ 1 สั่งให้บริษัทเชลล์การผลิต (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางแอสฟัลต์ที่ได้มาตรฐานตามที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนดเป็นผู้ผลิตและเป็นมาตรฐานที่โจทก์กำหนดไว้ในเรื่องคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าประกวดราคาซื้อขายยางแอสฟัลต์ โจทก์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปควบคุมการผลิต ซึ่งหากว่าการผลิตไม่ถูกต้องเจ้าหน้าที่ของโจทก์ต้องท้วงติงยางแอสฟัลต์ที่จำเลยที่ 1 จะส่งมอบให้แก่โจทก์จึงเป็นยางแอสฟัลต์ที่ผ่านการผลิตและตรวจสอบที่ได้มาตรฐานตามสัญญาซื้อขาย แต่การวิเคราะห์คุณภาพยางแอสฟัลต์ของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่มีมาตรฐานเมื่อบริษัทเชลล์การผลิต (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตยางแอสฟัลต์เสร็จกรรมวิธีรอการตรวจรับ เจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงแจ้งว่ายางแอสฟัลต์ไม่ได้มาตรฐาน บริษัทเชลล์การผลิต (ประเทศไทย) จำกัด พยายามแก้ไขเพื่อส่งมอบยางแอสฟัลต์ให้แก่โจทก์ แต่ก็ถูกปฏิเสธเรื่อยมาจนล่วงเลยกำหนดตามสัญญาซื้อขายนั้น เห็นว่า ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ 1ดังกล่าว คงมีนายวิชัย เมฆานันท์ พนักงานตำแหน่งผู้จัดการแผนกยางแอสฟัลต์ของจำเลยที่ 1 เบิกความลอย ๆ จำเลยที่ 1 ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงว่าบริษัทเชลล์การผลิต (ประเทศไทย) จำกัดได้ผลิตยางแอสฟัลต์ให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายแล้วหรือหลักฐานที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับมอบยางแอสฟัลต์จากจำเลยที่ 1 แต่กลับได้ความว่าเมื่อโจทก์มีหนังสือด่วนมากลงวันที่ 7 มิถุนายน 2533 ตามเอกสารหมาย จ.45 ถึงจำเลยที่ 1 ว่า ตามที่จำเลยที่ 1 แจ้งว่าสามารถส่งยางแอสฟัลต์ตามสัญญาซื้อขายปี 2532 ที่ค้างส่งภายในเดือนพฤษภาคม 2533 โจทก์ยังไม่ได้รับยางแอสฟัลต์ดังกล่าว และจำนวนเงินค่าปรับเกินร้อยละ10 ของวงเงินค่ายางแอสฟัลต์ที่ยังไม่ส่งมอบแล้ว จึงให้จำเลยที่ 1ยืนยันกำหนดส่งยางแอสฟัลต์ที่ค้างภายในวันที่ 18 มิถุนายน 2533จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบลงวันที่ 15 มิถุนายน 2533 ตามเอกสารหมาย จ.46 แผ่นที่ 2 และที่ 3 แจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 1 ได้สอบถามและเร่งรัดบริษัทผู้ผลิตอยู่ตลอดเวลา บริษัทผู้ผลิตได้ชี้แจงถึงเหตุล่าช้าตามสำเนาหนังสือของบริษัทผู้ผลิตซึ่งจำเลยที่ 1 ส่งให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.46 แผ่นที่ 3 ว่าเกิดปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการผลิตบางประการทำให้เกิดความล่าช้าและเมื่อโจทก์มีหนังสือด่วนมากแจ้งให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลต์อีก2 ครั้งตามหนังสือลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2533 และวันที่ 14 สิงหาคม2533 จำเลยที่ 1 ก็แจ้งเหตุขัดข้องตามหนังสือของบริษัทผู้ผลิตว่าเกิดปัญหาเกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการผลิต และเกิดปัญหาในส่วนของอุปกรณ์การผลิตในโรงงานซึ่งจะต้องมีการดัดแปลงระบบท่อส่งวัตถุดิบเพิ่มขึ้น เป็นผลทำให้การผลิตยางแอสฟัลต์ต้องล่าช้าออกไปอีก ตามเอกสารหมาย จ.47 ถึง จ.50 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 หรือบริษัทผู้ผลิตยางแอสฟัลต์ให้แก่จำเลยที่ 1 เคยโต้แย้งโจทก์เรื่องการวิเคราะห์คุณภาพยางแอสฟัลต์แต่ประการใด ข้อเท็จจริงที่ว่ากระบวนการผลิตทำให้เกิดความล่าช้า เป็นผลเสียต่อชื่อเสียงและความเชื่อถือในการดำเนินธุรกิจของบริษัทผู้ผลิต ไม่มีเหตุผลใดที่บริษัทผู้ผลิตจะกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่เป็นผลเสียแก่ตนโดยปราศจากความจริง เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับเพราะไม่สามารถส่งมอบยางแอสฟัลต์ตามสัญญาซื้อขายให้แก่โจทก์ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนฎีกาข้อที่สองว่า โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับหลังจากครบกำหนดตามสัญญาแล้วเป็นเวลา 1 ปีเศษ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า เมื่อครบกำหนดตามสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับในวันที่ 31 ธันวาคม 2532 และวันที่ 28 มกราคม 2533 ตามลำดับ แต่จำเลยที่ 1 มิได้ส่งมอบยางแอสฟัลต์ตามข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1เป็นฝ่ายขอผ่อนผันจะส่งมอบยางแอสฟัลต์ที่ค้างส่งภายในเดือนพฤษภาคม 2533 แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้ส่งมอบยางแอสฟัลต์ โจทก์ได้มีหนังสือด่วนมากแจ้งให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลต์ 3 ครั้งซึ่งจำเลยที่ 1 มีหนังสือชี้แจงเหตุที่ยังไม่สามารถส่งมอบยางแอสฟัลต์และรับว่าจะรีบส่งมอบให้แก่โจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.45 ถึง จ.50ดังวินิจฉัยมาแล้ว แสดงว่าโจทก์พยายามให้โอกาสจำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลต์โดยไม่บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ยังมีหนังสือลงวันที่ 17สิงหาคม 2533 ตามเอกสารหมาย จ.6 อ้างเหตุสุดวิสัยที่ยังไม่สามารถส่งมอบยางแอสฟัลต์ได้และขอส่งมอบยางแอสฟัลต์ที่ค้างส่งตามสัญญาซื้อขายปี 2532 ให้ครบตามสัญญาภายในวันที่ 31 ธันวาคม2533 โดยยินยอมชำระค่าปรับในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคายางแอสฟัลต์ที่ค้างส่งจนกว่าจำเลยที่ 1 จะส่งมอบยางแอสฟัลต์ครบถ้วน ดังนั้น การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2534 และวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2534 ตามลำดับ จึงไม่มีพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาด้วยว่า การบอกเลิกสัญญาซื้อขายสองฉบับขัดต่อกฎหมาย เพราะมิได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 นั้น ปรากฏว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับก่อนระเบียบที่จำเลยที่ 1 อ้างจะใช้บังคับจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับโดยขัดต่อกฎหมายได้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนฎีกาข้อที่สามว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 และ จ.23 ซึ่งจำเลยที่ 1 นำมาวางเป็นหลักประกันแล้ว ยังพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับดังกล่าวด้วย เท่ากับพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายมากกว่าที่ศาลกำหนดนั้น เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 และจ.22 ข้อ 8 ระบุว่าในวันทำสัญญาซื้อขายจำเลยที่ 1 ได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 เป็นจำนวนร้อยละ 5 ของราคาสิ่งของทั้งหมด คิดเป็นเงิน 139,050 บาท และ 295,661 บาท ตามลำดับมาวางไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาหลักประกันนี้โจทก์จะคืนให้เมื่อจำเลยที่ 1 พ้นจากข้อผูกพันตามสัญญา ดังนั้นหนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.23 จึงเป็นหลักประกันที่จำเลยที่ 1 นำมาวางไว้เผื่อความเสียหายในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขาย โจทก์จึงมีสิทธิเพียงเรียกให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 และ จ.23 เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินตามจำนวนในหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 และ จ.23 ต่อโจทก์ด้วยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนในข้อนี้ฟังขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนฎีกาข้อที่สี่ว่า โจทก์ทั้งสองสำนวนไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องจ่ายเงินซื้อยางแอสฟัลต์จากผู้อื่นในราคาที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมายจ.3 และ จ.22 นั้น เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 และ จ.22 ข้อ 9 วรรคสองระบุว่าในกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ฯลฯ และถ้าโจทก์จัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นเต็มจำนวน หรือเฉพาะจำนวนที่ขาดส่งแล้วแต่กรณีภายในกำหนด 12 เดือน นับแต่วันที่บอกเลิกสัญญาโดยให้นับวันที่บอกเลิกสัญญาเป็นวันเริ่มต้น จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ด้วย เมื่อโจทก์ได้ประกวดราคาซื้อยางแอสฟัลต์เต็มจำนวนที่จำเลยที่ 1 มิได้ส่งมอบให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งกำหนดราคาไว้ 2,780,981.10 บาทและซื้อยางแอสฟัลต์เฉพาะที่ขาดส่งตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมายจ.22 ซึ่งกำหนดราคาไว้ 5,913,215.50 บาท โดยหักราคายางแอสฟัลต์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบแล้ว 17 เมตริกตัน เป็นเงิน 130,985 บาท คงเหลือ5,782,230.50 บาท โดยซื้อจากบริษัททิปโก้แอสฟัลต์ จำกัด ในราคา3,558,561 บาท และ 7,392,773 บาท ตามลำดับ ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.9 และ จ.44 จึงเป็นราคายางแอสฟัลต์ที่โจทก์ต้องจ่ายสูงขึ้นเป็นเงิน 777,579.90 บาท และ 1,610,542.50 บาท ตามลำดับอันเป็นจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาโจทก์ดำเนินการซื้อยางแอสฟัลต์ใหม่ด้วยวิธีประกวดราคาแม้จะมีผู้เข้าประกวดราคาเพียง 2 ราย และราคายางแอสฟัลต์สูงขึ้นกว่าที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายให้แก่โจทก์ก็ไม่อาจถือได้ว่ามีการสมยอมระหว่างโจทก์กับผู้ชนะการประกวดราคา ส่วนที่จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนฎีกาว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของโจทก์ถือหุ้นในบริษัทที่เข้าประกวดราคาการประกวดราคาจึงไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม และโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ได้ชำระราคายางแอสฟัลต์ให้แก่ผู้ขายรายใหม่แล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายนั้น จำเลยที่ 1 มิได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องจ่ายเงินซื้อยางแอสฟัลต์จากผู้อื่นในราคาที่สูงขึ้นเป็นเงิน 777,579.90 บาท และ1,610,542.50 บาท ตามลำดับนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1ทั้งสองสำนวนในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยห้าข้อที่ตามที่จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนฎีกาว่าโจทก์ทั้งสองสำนวนไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าปรับเป็นรายวัน เพราะตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 1 มิได้ส่งมอบยางแอสฟัลต์ตามสัญญา เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแสดงว่าไม่ประสงค์จะให้ปฏิบัติตามสัญญาอีก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าปรับส่วนสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.22 โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยฝ่าฝืนต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าปรับ ค่าปรับที่โจทก์ทั้งสองสำนวนเรียกร้องมาสูงเกินส่วน และที่โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนชำระค่าปรับเท่าที่โจทก์ทั้งสองสำนวนเรียกร้องมาในฟ้องนั้นเห็นว่า สัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 9 วรรคแรกระบุว่าเมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญานี้แล้ว ถ้าจำเลยที่ 1ไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่โจทก์ หรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวน โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ข้อ 10 วรรคแรกระบุว่า ในกรณีที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 9 จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่โจทก์จนถูกต้องครบถ้วน และในวรรคสามระบุว่า ในระหว่างที่มีการปรับนั้นถ้าโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา และริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 8 กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 9 วรรคสอง นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ แสดงว่าในสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงที่ยินยอมให้โจทก์ปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันในอัตราร้อยละ0.2 ของราคาสิ่งของที่โจทก์ยังไม่ได้รับมอบ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญา และในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ต้องถูกปรับเป็นรายวันนั้นถ้าโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและคงปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ได้มีหนังสือเตือนและสงวนสิทธิที่จะปรับตามสัญญาตามเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.50 ขอผัดผ่อนโดยยินยอมชำระค่าปรับให้แก่โจทก์จึงเป็นการปฏิบัติตามสัญญา กรณีมิใช่เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้วจะไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าปรับดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ส่วนสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.22 นั้น โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่15 กุมภาพันธ์ 2534 ตามเอกสารหมาย จ.27 ก่อนที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 จะใช้บังคับ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกเป็นข้ออ้างว่าโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยฝ่าฝืนต่อระเบียบดังกล่าวได้ ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าปรับตามสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับเพียงใดนั้น เห็นว่า จำนวนค่าปรับที่โจทก์เรียกร้องตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับเกือบเท่าราคายางแอสฟัลต์ที่โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ 1 ค่าปรับดังกล่าวจึงเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่งโจทก์บอกเลิกสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับและใช้สิทธิตามสัญญาซื้อยางแอสฟัลต์จากผู้อื่นโดยเรียกให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายในราคายางแอสฟัลต์ที่สูงขึ้นด้วยแล้ว ประกอบกับเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่สามารถส่งมอบยางแอสฟัลต์ให้แก่โจทก์ได้ เป็นเพราะเกิดปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการผลิตของบริษัทผู้ผลิต ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเบี้ยปรับตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 เพิ่มขึ้น 299,469.70 บาทและกำหนดเบี้ยปรับตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.22 เพิ่มขึ้น 130,985 บาท นั้น เป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินไป เห็นสมควรลดลงเหลือ 300,000 บาท และ 500,000 บาท ตามลำดับฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนฟังขึ้นบางส่วน ฎีกาของโจทก์ทั้งสองสำนวนในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามที่จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองสำนวนมีสิทธิขอหักกลบลบหนี้หรือไม่นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยการหักกลบลบหนี้กันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ของทั้งสองฝ่ายนั้น เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกลบลบหนี้ได้ สำนวนแรกโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2534 ตามเอกสารหมาย จ.12 แจ้งรายการค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 โดยแจ้งด้วยว่าขอหักกลบลบหนี้กับค่ายางแอสฟัลต์ตามสัญญาซื้อขายลงวันที่ 28 กันยายน 2533 ซึ่งโจทก์เป็นลูกหนี้จะต้องชำระค่ายางแอสฟัลต์ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน299,469.70 บาท เป็นการแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิหักกลบลบหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 341 วรรคหนึ่ง เมื่อหักกลบลบหนี้ค่ายางแอสฟัลต์ที่โจทก์เป็นลูกหนี้จำเลยที่ 1 กับค่าปรับ 300,000 บาท และค่าเสียหาย 777,579.90 บาทซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 แล้ว จำเลยที่ 1 คงต้องรับผิดชำระค่าปรับและค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในสำนวนแรกเป็นเงิน 778,110.20 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้หักกลบลบหนี้ในสำนวนแรกชอบแล้ว ส่วนสำนวนหลังปรากฏว่า ความรับผิดของโจทก์ที่จะต้องชำระราคายางแอสฟัลต์ให้แก่จำเลยที่ 1 กับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องชำระค่าปรับและค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เกิดจากสัญญาซื้อขายยางแอสฟัลต์รายเดียวกันตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.22 ต่างฝ่ายต่างผูกพันในหนี้อันเดียวกัน ดังนั้น ที่โจทก์ขอหักราคายางแอสฟัลต์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบบางส่วนออกจากค่าปรับและค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิด จึงไม่ใช่เรื่องหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์นำค่ายางแอสฟัลต์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบให้แก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 130,985 บาทมาหักกลบลบหนี้ได้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เพื่อความสะดวกแก่การบังคับตามคำพิพากษาศาลฎีกาจึงหักหนี้กันเสียโดยให้มีผลนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป โดยเมื่อหักหนี้ค่ายางแอสฟัลต์ที่โจทก์เป็นลูกหนี้จำเลยที่ 1 กับค่าปรับ 500,000 บาทและค่าเสียหาย 1,610,542.50 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.22 แล้ว จำเลยที่ 1 คงต้องรับผิดชำระค่าปรับและค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในสำนวนหลังเป็นเงิน 1,979,557.50บาท ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำนวนแรกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับและค่าเสียหายจำนวน 778,110.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำนวนหลังให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับและค่าเสียหายจำนวน 1,979,557.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 24 มีนาคม2536) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์