คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 76/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องข้อ (ข)และ(ง) สรุปได้ว่า หลังจากที่ จำเลยปลอมเอกสารสิทธิใบวางบิลดังกล่าวในฟ้องข้อ (ก) และ (ค) แล้วจำเลยบังอาจนำเอกสารสิทธิดังกล่าวไปใช้อ้างแก่โจทก์ร่วมเพื่อเป็นหลักฐานในการแจ้งสรุปยอดปริมาณการขายสินค้าเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่า ใบวางบิลดังกล่าวได้วางให้แก่ลูกค้าและลูกค้าลงลายมือชื่อในช่อง ผู้รับวางบิลแล้ว ทั้งนี้ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม และประชาชน คำฟ้องโจทก์ดังกล่าวมิได้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยนำใบวางบิลไปใช้อ้างแก่โจทก์ร่วมมาโดยชัดแจ้ง เป็นคำฟ้องที่ไม่เพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีจึงเป็นคำฟ้อง ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

(ก) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2539 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้ทำเอกสารปลอมโดยลงลายมือชื่อของนายสุรเศรษฐ์ จารุเบ็ญจลักษณ์ ในช่องผู้รับวางบิลในใบวางบิลเลขที่1999 เล่มที่ 40 ของบริษัทยูนิซาวด์ อีเล็คโทรนิค (ไทยแลนด์) จำกัดผู้เสียหาย ซึ่งได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าของผู้เสียหาย โดยเมื่อผู้เสียหายส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าแล้วจะนำใบวางบิลดังกล่าวไปให้ลูกค้าลงลายมือชื่อในช่องผู้รับวางบิลเมื่อลูกค้าลงลายมือชื่อในช่องผู้รับวางบิลแล้วจะนัดหมายวันให้ผู้เสียหายมารับเงินในใบวางบิลเอกสารใบวางบิลดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานแห่งการก่อให้เกิดสิทธิในการเก็บเงินค่าสินค้าอันเป็นเอกสารสิทธิ โดยจำเลยปลอมเอกสารสิทธิดังกล่าวเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดและผู้เสียหายหลงเชื่อว่าใบวางบิลดังกล่าวมีนายสุรเศรษฐ์ลูกค้าลงลายมือชื่อเป็นผู้รับวางบิลจริงโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย นายสุรเศรษฐ์และประชาชน

(ข) ภายหลังจากที่จำเลยปลอมเอกสารสิทธิใบวางบิลดังกล่าวในฟ้องข้อ (ก) แล้วจำเลยได้นำเอกสารสิทธิดังกล่าวไปใช้และอ้างแก่บริษัทยูนิซาวด์ อีเล็คโทรนิค (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เสียหายเพื่อเป็นหลักฐานในการแจ้งสรุปยอดปริมาณการขายสินค้าเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าใบวางบิลดังกล่าวได้วางให้แก่ลูกค้าและลูกค้าลงลายมือชื่อในช่องผู้รับวางบิลแล้ว ทั้งนี้ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและประชาชน

(ค) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2539 เวลากลางวัน และกลางคืนต่อเนื่องกันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยได้ทำเอกสารปลอมโดยลงลายมือชื่อของนางไพจิตร กิติโสภากุล ในช่องผู้รับวางบิลในใบวางบิลเลขที่ 2230เล่มที่ 45 ของบริษัทยูนิซาวด์ อีเล็คโทรนิค (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เสียหายซึ่งได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าของผู้เสียหาย โดยเมื่อผู้เสียหายส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าแล้ว จะนำใบวางบิลดังกล่าวไปให้ลูกค้าลงลายมือชื่อในช่องผู้รับวางบิล เมื่อลูกค้าลงลายมือชื่อในช่องผู้รับวางบิลแล้วจะนัดหมายวันให้ผู้เสียหายมารับเงินในใบวางบิลเอกสารใบวางบิลดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานแห่งการก่อให้เกิดสิทธิในการเก็บเงินค่าสินค้าอันเป็นเอกสารสิทธิ โดยจำเลยปลอมเอกสารสิทธิดังกล่าวเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดและผู้เสียหายหลงเชื่อว่าใบวางบิลดังกล่าวมีนางไพจิตรลูกค้าลงลายมือชื่อเป็นผู้รับวางบิลจริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย นางไพจิตรและประชาชน

(ง) ภายหลังจากที่จำเลยปลอมเอกสารสิทธิใบวางบิล ดังกล่าวในฟ้องข้อ (ค) แล้ว จำเลยได้นำเอกสารสิทธิดังกล่าวไปใช้และอ้างแก่บริษัทยูนิซาวด์อีเล็คโทรนิค (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เสียหายเพื่อเป็นหลักฐานในการแจ้งสรุปยอดปริมาณการขายสินค้าเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าใบวางบิลดังกล่าวได้วางบิลให้แก่ลูกค้าและลูกค้าลงลายมือชื่อในช่องผู้รับวางบิลแล้ว ทั้งนี้ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและประชาชน

เหตุทั้งหมดเกิดที่แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2539 เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้และยึดใบวางบิล 2 ฉบับของผู้เสียหายซึ่งจำเลยทำปลอมและนำไปใช้อ้างดังกล่าวเป็นของกลาง จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6628/2539ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2378/2539 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268, 91 คืนของกลางแก่ผู้เสียหายและนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6628/2539 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2378/2539 ของศาลจังหวัดนนทบุรี

จำเลยให้การปฏิเสธแต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อคดีแรก

ระหว่างพิจารณา บริษัทยูนิซาวด์ อีเล็คโทรนิค (ไทยแลนด์) จำกัดผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม (ฟ้องข้อ (ก) (ข) (ค) และ (ง)) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268, 91 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษฐานปลอมเอกสารสิทธิและฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้น เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้เอกสารสิทธิปลอมเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธินั้น จึงให้ลงโทษฐานเป็นผู้ใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง แต่เพียงกระทงเดียว (ที่ถูกจำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามฟ้องข้อ (ก) และฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามฟ้องข้อ (ข) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 265 แต่ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามฟ้องข้อ (ข) เพียงกระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง กระทงหนึ่งกับมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามฟ้องข้อ (ค) และฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามฟ้องข้อ (ง) ตามมาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 265 แต่ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามฟ้องข้อ (ง) เพียงกระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง ให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91) จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมโทษ 2 กระทง เป็นจำคุก 2 ปี คืนของกลางแก่โจทก์ร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิด (ฐานปลอมเอกสารสิทธิตามฟ้องข้อ (ก) และ (ค)) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91จำคุกกระทงละ 6 เดือน และปรับกระทงละ 6,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 1 ปี และปรับ 12,000 บาท คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 (ตามฟ้องข้อ (ข) และ (ง)) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ร่วมฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามฟ้องข้อ (ข) และ (ง) ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมเฉพาะข้อที่ขอให้ลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามฟ้องข้อ (ข) และ (ง) ส่วนฎีกาข้ออื่นไม่รับ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมเพียงข้อเดียวว่า จำเลยมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามฟ้อง ข้อ (ข)และ (ง) ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า คำฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามฟ้องข้อ (ข) และ (ง) เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องข้อ (ข) และ (ง) สรุปได้ว่า หลังจากที่จำเลยปลอมเอกสารสิทธิใบวางบิลดังกล่าวในฟ้องข้อ (ก) และ (ค) แล้ว จำเลยบังอาจนำเอกสารสิทธิดังกล่าว (ใบวางบิลเลขที่ 1999 และใบวางบิลเลขที่ 2230) ไปใช้อ้างแก่โจทก์ร่วมเพื่อเป็นหลักฐานในการแจ้งสรุปยอดปริมาณการขายสินค้าเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าใบวางบิลดังกล่าวได้วางให้แก่ลูกค้าและลูกค้าลงลายมือชื่อในช่องผู้รับวางบิลแล้ว ทั้งนี้ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมและประชาชน คำฟ้องโจทก์ดังกล่าวมิได้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยนำใบวางบิลไปใช้อ้างแก่โจทก์ร่วมมาโดยชัดแจ้ง เป็นคำฟ้องที่ไม่เพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ว่าจะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามฟ้องข้อ (ข) และ (ง) นี้เสียได้ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วมอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยได้นำใบวางบิลปลอมตามฟ้องข้อ (ข)และ (ง) ไปใช้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”

พิพากษายืน

Share