แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๗/๒๕๔๘
วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดอุดรธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุดรธานีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๗ นายโกเมศ ฑีฆธนานนท์ โจทก์ ยื่นฟ้อง นายขันตี ตระกูลชัยอนันต์ ที่ ๑ นางสุวิทย์ หรือสุนิจนันต์ ตระกูลชัยอนันต์ หรือจันทร์รังศรี ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุดรธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๖๔๙/๒๕๔๗ ความว่าในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑ ได้เสนอขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๘๑ และเลขที่ ๘๒ ตั้งอยู่ที่ตำบลโคกกลาง อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี รวม ๒ แปลง แก่โจทก์ และจำเลยที่ ๒ ได้เสนอขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๙๓ ตั้งอยู่ที่ตำบลโคกกลาง อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์หลงเชื่อว่าที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีหลักฐานการครอบครองถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งยังร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดิน หัวหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานี สาขากุมภวาปี ส่วนแยกโนนสะอาดในขณะนั้น ยืนยันว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีการออกหลักฐานอย่างถูกต้องและไม่มีการรุกล้ำที่สาธารณะหรือเป็นที่ดินต้องห้ามตามกฎหมายอย่างใดๆ โจทก์จึงซื้อที่ดินทั้งสามแปลงไว้ แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๓ ได้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ทั้งสามฉบับ เนื่องจากการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) ดังกล่าวเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมีการนำหนังสือแสดงสิทธิครอบครอง (ส.ค.๑) ที่แจ้งไว้สำหรับที่ดินแปลงอื่นมาขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) และที่ดินทั้งสามแปลงตั้งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เห็นว่าการกระทำของเจ้าพนักงานที่ดินเป็นการกระทำในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๓ ทั้งจำเลยที่ ๓ ได้ออกหลักฐานในที่ดินดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เชื่อโดยสุจริตว่าเป็นที่ดินที่สามารถครอบครองและทำประโยชน์ได้จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดในการกระทำดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายเป็นเงินค่าซื้อที่ดินทั้ง ๓ แปลง จำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายที่โจทก์ได้เตรียมการสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีในที่ดินแปลงดังกล่าวจำนวน ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ก่อนที่โจทก์จะตกลงซื้อที่ดินจากจำเลยที่ ๑ โจทก์ได้ตรวจสอบความถูกต้องของที่ดินแล้ว ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินยืนยันว่าที่ดินดังกล่าวมีการออกหลักฐานถูกต้องและไม่มีการรุกล้ำที่สาธารณะหรือต้องห้ามตามกฎหมาย ดังนั้นจำเลยที่ ๑ จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์และไม่ต้องรับผิดใช้ค่าที่ดิน ส่วนที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายในการเตรียมการสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเพียงโครงการของโจทก์ที่เตรียมขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเท่านั้น ซึ่งสถาบันการเงินจะอนุมัติตามโครงการของโจทก์หรือไม่ โจทก์ก็มิได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องและค่าเสียหายในส่วนนี้ก็เป็นค่าเสียหายที่สูงเกินความเป็นจริง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ให้การพร้อมทั้งโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า จำเลยที่ ๓ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ ๓ ไม่เคยมอบหมายให้เจ้าพนักงานที่ดินรับรองว่าที่ดินที่ถูกเพิกถอนเป็นที่ดินที่ไม่มีการรุกล้ำที่สาธารณะหรือที่ดินต้องห้ามตามกฎหมายใดๆ ดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่ประการใด ทั้งโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ ต่อศาลจังหวัดอุดรธานีเนื่องจาก จำเลยที่ ๓ เป็นส่วนราชการระดับกรมมีฐานะเป็นนิติบุคคล สังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่จำเลยที่ ๓ มีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสามแปลง เนื่องจากเป็นการออกโดยอาศัยหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะนำหลักฐาน ส.ค.๑ ของที่ดินแปลงอื่นมาใช้เป็นหลักฐานขอออก น.ส.๓ ก. ประกอบกับที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้จำแนกเป็นป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีโดยไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งการครอบครองไว้ก่อน ตามกฎหมาย จึงเป็นที่ดินต้องห้ามและไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ของพระราชบัญญัติดังกล่าว อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
โจทก์ยื่นคำชี้แจงว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ร่วมกันกับเจ้าพนักงานที่ดิน หัวหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานี สาขากุมภวาปี ยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ออกหลักฐานอย่างถูกต้องและไม่มีการรุกล้ำที่สาธารณะหรือต้องห้ามตามกฎหมายอย่างใด หากโจทก์ซื้อก็สามารถทำประโยชน์ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้มีนายอำเภอโนนสะอาด (ในขณะที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์) เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องและลงลายมือชื่อในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ทำให้โจทก์หลงเชื่อซื้อที่ดินดังกล่าวไว้ เป็นลักษณะที่เจ้าพนักงานที่ดินร่วมกับบุคคลภายนอกกระทำความผิดโดยไม่สามารถแบ่งแยกการกระทำได้ อีกทั้งจำเลยที่ ๓ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและสรุปผลว่าเจ้าพนักงานที่ดินกระทำความผิดจริง และโจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ ๓ ในการออกคำสั่งตามที่จำเลยที่ ๓ กล่าวอ้างในคำให้การ เพราะการออกคำสั่งของจำเลยที่ ๓ ไม่เข้าองค์ประกอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) “คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ”
ศาลจังหวัดอุดรธานีเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ โดยกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานี สาขากุมภวาปี ส่วนแยกโนนสะอาด ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ หลอกลวงโจทก์โดยร่วมกันยืนยันว่าที่ดินที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ นำไปเสนอขายแก่โจทก์เป็นที่ดินที่มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ถูกต้องตามกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อและซื้อที่ดินจากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ กรณีจึงเป็นการกระทำละเมิด อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาโดยทั่วไปของเจ้าพนักงานที่ดิน มิใช่การกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด ทั้งคดีนี้โจทก์มิได้มีคำขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินที่สั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสามแปลงของโจทก์ ศาลจึงต้องใช้บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยลักษณะละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ชี้ขาด ดังนั้น คดีในส่วนของจำเลยที่ ๓ จึงไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๑
ศาลปกครองขอนแก่นเห็นว่า มูลเหตุของคดีนี้มาจากการที่จำเลยที่ ๓ ออกคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ เพราะการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามที่ประมวลกฎหมายที่ดินกำหนด โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทดังกล่าวโดยการซื้อตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์จากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ การเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากคำสั่งดังกล่าว แม้โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ ๓ เพื่อขอให้มีการเพิกถอนหรือยกเลิกคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่โจทก์ฟ้องว่า การที่จำเลยที่ ๓ ออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยประมาทเลินเล่อและเจ้าพนักงานที่ดินในสำนักงานที่ดินจังหวัด ซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาคของจำเลยที่ ๓ ร่วมกับบุคคลภายนอกกระทำการยืนยันว่าที่ดินที่พิพาทเป็นที่ดินที่มีการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน โดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่รุกล้ำที่สาธารณะและไม่เป็นที่ดินต้องห้ามตามกฎหมายใดๆ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๓ เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อในความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว และได้ดำเนินการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายและจำนองโดยถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยที่ ๓ ต้องร่วมรับผิดในการกระทำดังกล่าวของเจ้าพนักงานที่ดินอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ ๓ ในฐานะหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมีภารกิจตามที่กฎหมายแบ่งส่วนราชการกำหนดไว้เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลโดยการออกหนังสือแสดงสิทธิและในการบริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้บุคคลมีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน เมื่อมีการฟ้องคดีว่า เจ้าหน้าที่ของตนกระทำการรับรองความถูกต้องของที่ดินพิพาททำให้โจทก์หลงเชื่อว่าเป็นที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยถูกต้องและไม่เป็นที่ดินต้องห้ามตามกฎหมายใด จึงเป็นการกระทำที่อาศัยการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ ๓ จึงต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงเห็นว่าคดีในส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ เป็นคดีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเอกชนด้วยกันและจากหน่วยงานทางปกครองอันเนื่องมาจากการทำละเมิด ซึ่งศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นสอดคล้องกันว่า คดีในส่วนจำเลยที่ ๑ และ ที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำ หรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ ๓ ข้อเท็จจริงตามฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ซื้อที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) จำนวน ๓ แปลง จากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวและเจ้าพนักงานที่ดิน หัวหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานี สาขากุมภวาปี ส่วนแยกโนนสะอาดในขณะนั้น ร่วมกันยืนยันและรับรองทำให้โจทก์หลงเชื่อว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีการออกหลักฐานอย่างถูกต้องและไม่มีการรุกล้ำที่สาธารณะหรือเป็นที่ต้องห้ามตามกฎหมาย แต่ปรากฏว่าต่อมาจำเลยที่ ๓ มีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ดังกล่าวทั้งสามแปลง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของเจ้าพนักงานที่ดินและจากการที่จำเลยที่ ๓ ได้ออกหลักฐานในที่ดินโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนทำให้โจทก์เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ดังกล่าวเป็นที่ดินที่สามารถครอบครองและทำประโยชน์ได้และซื้อที่ดินดังกล่าวไว้ โดยคำฟ้องของโจทก์มิได้มีการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าการที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๓ กระทำละเมิดต่อโจทก์และการที่จำเลยที่ ๓ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือไม่
เหตุแห่งการฟ้องคดีมาจากการที่จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ในที่ดินทั้งสามแปลงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ในที่ดินดังกล่าวในเวลาต่อมา ซึ่งการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) นั้น เจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายที่ดินได้ให้อำนาจไว้ และการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ดังกล่าวก็เป็นอำนาจหน้าที่ที่ประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติไว้เช่นกัน ทั้งคำสั่งเพิกถอนถือเป็นคำสั่งทางปกครองตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กรณีไม่มีข้อโต้แย้งเรื่องสิทธิในที่ดิน ฉะนั้น การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๓ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายโกเมศ ฑีฆธนานนท์ โจทก์ นายขันตี ตระกูลชัยอนันต์ ที่ ๑ นางสุวิทย์หรือสุนิจนันต์ ตระกูลชัยอนันต์ หรือจันทร์รังศรี ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ จำเลยนั้น สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนจำเลยที่ ๓ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
วัชรินทร์ คัด/ทาน