คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4185/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 5 (8) (จ) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ.2517 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ.(ฉบับที่ 179) พ.ศ.2529 บัญญัติให้ยกเว้นภาษีการค้าสำหรับการขายสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่วเฉพาะที่ผลิตในราชอาณาจักรและมิได้ระบุในบัญชีที่ 1 บัญชีที่ 2 และบัญชีที่ 3 ท้ายพระราช-กฤษฎีกา ดังนั้น การขายสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่วจะได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ก็ต่อเมื่อสินค้าดังกล่าวมิได้ระบุในบัญชีที่ 1 บัญชีที่ 2 และบัญชีที่ 3 ท้ายพระราชกฤษฎีกา ด้วย
สินค้าของโจทก์เป็นวุ้นเส้นและเส้นหมี่ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารบรรจุอยู่ในห่อกระดาษแก้ว ระบุชื่อสินค้า ตราของสินค้า กับมีภาพประกอบและระบุว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นสินค้าที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึก หรือที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อที่มีชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าปรากฏอยู่บนหรือในภาชนะหรือหีบห่อซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดจากภายนอก จึงเป็นสินค้าที่ระบุในบัญชีที่ 1 หมวด 1 (4)(ข) ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 54) พ.ศ.2517 ย่อมไม่ได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามมาตรา 5 (8) (จ) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการเป็นผู้ผลิตวุ้นเส้นและเส้นหมี่ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ขายส่ง วุ้นเส้นที่โจทก์ผลิตนั้น แบ่งเป็น๓ เกรด คือเกรดเอ ผลิตจากถั่วเขียวล้วน ๆ และเกรดบีกับเกรดซีซึ่งผลิตจากถั่วเขียวและแป้งมันฝรั่งผสมกัน ส่วนเส้นหมี่ผลิตจากแป้งข้าวเจ้าล้วน ๆ ในการผลิตวุ้นเส้นทั้งสามเกรด นั้น โจทก์ใส่สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อฟอกวุ้นเส้นจากสีเขียวให้เป็นสีขาว โจทก์ได้ยื่นเสียภาษีการค้า เงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาล สำหรับรายรับในการขายวุ้นเส้น และเส้นหมี่ ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๓๐ ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๐รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕,๕๓๕,๕๑๘.๑๗ บาท ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าภาษีที่โจทก์ได้เสียไปดังกล่าวจากจำเลยทั้งหมด โดยอ้างว่าโจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามมาตรา ๕ (๘) (จ) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๔) พ.ศ.๒๕๑๗ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๑๗๙) พ.ศ.๒๕๒๙ แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยคืนเงินภาษีจำนวน ๕,๕๓๕,๕๑๘ บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือน นับแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๐ จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๖ เดือน เป็นเงินดอกเบี้ย ๓๓๒,๑๓๑ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น๕,๘๖๗,๖๔๙ บาท ให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือน ในต้นเงินจำนวน ๕,๕๓๕,๕๑๘ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า วุ้นเส้นและเส้นหมี่ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่วตามความหมายของกฎหมาย แต่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารใด ๆ ซึ่งได้บรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึก หรือบรรจุภาชนะหรือหีบห่อซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๔)พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๕ (๘) (จ) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๑๗)พ.ศ.๒๕๒๙ มาตรา ๓ วุ้นเส้นและเส้นหมี่ที่โจทก์ผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้า ตามหมวด ๑ (๔) (ข) ของบัญชีที่ ๑ ท้ายพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๔) พ.ศ.๒๕๑๗โจทก์ต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๗ ของรายรับตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๓๐เป็นต้นไป ตามมาตรา ๘ (๑๑) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๔) พ.ศ.๒๕๑๗ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๑๗ ) พ.ศ.๒๕๒๙ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน จำนวน๕,๗๕๕,๙๗๙๙.๖๔ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือนในต้นเงิน ๓,๖๗๔,๓๖๐.๕๙ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแต่ไม่เกินจำนวน ๕,๕๓๕,๕๑๘ บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีการค้าเพราะสินค้าวุ้นเส้นและเส้นหมี่ของโจทก์มิใช่ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่ว แต่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึก หรือที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อที่มีชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าปรากฏอยู่บนภาชนะหรือหีบห่อซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า มาตรา ๕ (๘)(จ) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ ๕๔) พ.ศ.๒๕๑๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่๑๗๙) พ.ศ.๒๕๒๙ บัญญัติให้ยกเว้นภาษีการค้าสำหรับการขายสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่วเฉพาะที่ผลิตในราชอาณาจักรและมิได้ระบุในบัญชีที่ ๑ บัญชีที่ ๒และบัญชีที่ ๓ ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ดังนั้น การขายสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่วจะได้รับยกเว้นภาษีการค้าต่อเมื่อสินค้าดังกล่าวมิได้ระบุในบัญชีที่ ๑บัญชีที่ ๒ หรือบัญชีที่ ๓ ท้ายพระราชกฤษฎีกาจึงต้องพิจารณาเสียก่อนว่าสินค้าของโจทก์ที่พิพาทกันในคดีนี้เป็นสินค้าที่ระบุในบัญชีใดบัญชีหนึ่งท้ายพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ ถ้าเป็นสินค้าที่ระบุในบัญชีใดบัญชีหนึ่ง สินค้าของโจทก์ก็มิได้รับการยกเว้นภาษีการค้า แม้สินค้าของโจทก์จะเป็นสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่วด้วยก็ตาม สำหรับบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา บัญชีที่ ๑ หมวด ๑ อาหาร เครื่องดื่มนั้น ข้อ (๔) (ข)ระบุถึง เครื่องปรุงรส กลิ่นหรือสีอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารใด ๆ นอกจากอาหารสัตว์แต่ไม่รวมถึงสินค้าตาม (๕) ทั้งนี้ เฉพาะที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึกหรือที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อที่มีชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าปรากฏอยู่บนหรือในภาชนะหรือหีบห่อซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก แต่สินค้าของโจทก์ที่พิพาทกันในคดีนี้นั้นเป็นวุ้นเส้นและเส้นหมี่บรรจุในห่อกระดาษแก้วระบุชื่อสินค้าตราของสินค้ากับมีภาพประกอบและระบุว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นสินค้าที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อผนึกหรือที่บรรจุภาชนะหรือหีบห่อที่มีชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าปรากฏอยู่บนหรือในภาชนะหรือหีบห่อซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอกตามฟ้องของโจทก์ โจทก์ก็ยอมรับในข้อนี้นอกจากนี้สินค้าพิพาทดังกล่าวก็เป็นผลิตภัณฑ์อาหารอย่างหนึ่งอย่างเห็นได้ชัดทั้งคู่ความก็ยอมรับด้วย ดังนั้น สินค้าที่พิพาทกันในคดีนี้จึงเป็นสินค้าตามบัญชีที่ ๑ท้ายพระราชกฤษฎีกา หมวด ๑ (๔) (ข) สินค้าพิพาทจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีการค้า ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่าสินค้าพิพาทเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่วตามมาตรา ๕ (๘) (จ) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหรือไม่เพราะไม่ว่าสินค้าพิพาทจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากแป้งหรือถั่วหรือไม่ก็ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีการค้าเช่นเดียวกัน
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share